จันทรเกษมสาร https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal <p>วารสารที่มุ่งเผยแพร่ความรู้และผลงานด้านการศึกษาและวิจัยในแนวทางสร้างสรรค์และเป็นประโยชน์ เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแนวคิดหรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับผลงานวิชาการ ระหว่างนักวิชาการในมหาวิทยาลัยกับสังคมภายนอก</p> th-TH <p>บทความที่ได้รับการตีพิมพ์เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม</p> <p>ข้อความที่ปรากฏในบทความแต่ละเรื่องในวารสารวิชาการเล่มนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนแต่ละท่านไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม และคณาจารย์ท่านอื่นๆในมหาวิทยาลัยฯ แต่อย่างใด ความรับผิดชอบองค์ประกอบทั้งหมดของบทความแต่ละเรื่องเป็นของผู้เขียนแต่ละท่าน หากมีความผิดพลาดใดๆ ผู้เขียนแต่ละท่านจะรับผิดชอบบทความของตนเองแต่ผู้เดียว</p> research.rdi@chandra.ac.th (ณพัชญ์ปภา สว่างนุวัตรกุล) research.rdi@chandra.ac.th (นายวิศรุต พิพิธกุล) Mon, 22 Apr 2024 16:18:50 +0700 OJS 3.3.0.8 http://blogs.law.harvard.edu/tech/rss 60 บรรณาธิการแถลง https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/263847 <p>วารสารจันทรเกษมสาร มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ปีที่ 30 ฉบับที่ 1 (มกราคม - มิถุนายน) พ.ศ. 2567 เป็นวารสารระดับชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (TCI) กลุ่มที่ 1 วารสารฉบับนี้ได้นำเสนอบทความทั้งหมด 10 เรื่อง โดยแบ่งเป็นบทความวิชาการ 1 เรื่อง และบทความวิจัย 9 เรื่อง โดยมี 8 บทความหลักที่สะท้อนถึงชุมชนในมิติที่มีความพิเศษแตกต่างกันออกไปภายใต้หัวข้อ ความพิเศษแห่งท้องถิ่น (Local Specialty) ดังนี้</p> <p>บทความวิชาการ เรื่อง“ศิลปะตกแต่งกับการสร้างความร่วมมือเพื่อแหล่งท่องเที่ยวชนบท กรณีศึกษาตลาดโบราณร้อยปี ชุมชนคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท” ที่ได้นำศิลปะและการออกแบบมาใช้เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวให้กับชุมชน โดยผู้เขียนได้ศึกษาและสำรวจพื้นที่ชุมชนคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท และทดลองสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหลายรูปแบบและต่อยอดสู่กิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ กิจกรรมสตรีตอาร์ต กิจกรรมสร้างสรรค์เมนูอาหารด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น กิจกรรมเขียนภาพทิวทัศน์-วิถีชีวิตชุมชน</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “กระบวนการขับเคลื่อนศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกก บ้านห้วยตาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย” ที่ได้สะท้อนให้เห็นกระบวนการขับเคลื่อนศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกกบ้านห้วยตาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย เพื่อผลักดันให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืน</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “แผนผังสายธารคุณค่าของกิจกรรมดำน้ำตื้นในจังหวัดตรัง” ที่ได้วิเคราะห์และนำเสนอแนวทางการปรับปรุงแผนผังสายธารคุณค่าของกิจกรรมดำน้ำตื้นในจังหวัดตรัง เพื่อที่จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการนำเที่ยวในการปรับปรุงและพัฒนากิจกรรมดำน้ำตื้นในจังหวัดตรังต่อไป</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “โมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เชียงราย” ที่ได้นำแนวคิดการปลูกข้าวแบบ Eco Rice แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG และแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ไปประยุกต์ใช้กับการดำเนินงานของกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 จังหวัดเชียงราย เพื่อยกระดับคุณภาพของห่วงโซ่อุปทานของการปลูกข้าวเหนียว ทำให้เกิดความยั่งยืนแก่เกษตรกรในการแก้ไขปัญหาการผลิตในระดับต้นน้ำถึงปลายน้ำได้อย่างครบวงจร</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของเมืองมีนบุรี” ได้นำเสนอประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของเมืองมีนบุรี และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลานับแต่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนต่าง ๆ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงการพัฒนาเข้าสู่สังคมผลิตข้าวและสังคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลในจังหวัดเชียงใหม่ตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่” ที่ได้นำเสนอปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงรูปแบบการบริหารงานและการพัฒนาการบริการของผู้ประกอบการธุรกิจโฮสเทลให้สอดคล้องกับวิถีปกติใหม่</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรสู่การลดความเหลื่อมล้ำมิติเศรษฐกิจ” ที่ได้พัฒนารูปแบบการจัดการแปลงปลูกสมุนไพรสู่การเพิ่มศักยภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันหอมระเหยในพื้นที่ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร โดยใช้วิธีการ PAR และ CBR เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นบนฐานทรัพยากรและความรู้ชุมชน</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “บทบาทของผ้าทอในพิธีกรรมกินแขก-กุนตายของคนไทในลุ่มน้ำโขง” ที่ได้สะท้อนบทบาทของผ้าทอในพิธีกรรมการแต่งงาน (กินแขก) และพิธีกรรมหลังความตาย (กุนตาย) ที่ยังมีความผูกพันกับวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขง 3 ชุมชน ในประเทศไทย ลาว และจีน</p> <p>นอกจากนี้ ยังมีบทความวิจัยที่เป็นการศึกษาในมุมมองอื่น ๆ อีก 2 เรื่อง ที่เป็นประโยชน์ต่อวงวิชาการ ประกอบไปด้วย</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “การศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียน” ที่ได้นำเสนอ สถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยต่อการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียนว่าด้วยกรอบการกำกับดูแลด้านยาแผนโบราณ (ASEAN Agreement on Regulatory Framework for Traditional Medicines)</p> <p>บทความวิจัย เรื่อง “การวิเคราะห์เนื้อหาผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีดนตรีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม” ที่ได้มีการวิเคราะห์เนื้อหาผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีดนตรีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม เพื่อเป็นการนำองค์ความรู้ที่ได้ไปพัฒนาต่อยอด และสร้างองค์ความรู้ที่เป็นนวัตกรรมใหม่ได้</p> <p>ทางกองบรรณาธิการขอขอบพระคุณเจ้าของบทความวิชาการและบทความวิจัยทุกท่าน ที่ให้ความสนใจลงเผยแพร่ในวารสารจันทรเกษมสาร รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิทุกท่านที่ให้ความอนุเคราะห์ในการพิจารณา กลั่นกรอง และให้ข้อเสนอแนะแก่เจ้าของบทความ เพื่อให้วารสารจันทรเกษมสารได้บทความที่มีคุณภาพสำหรับผู้ที่สนใจจะได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป</p> ณพัชญ์ปภา สว่างนุวัตรกุล Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/263847 Fri, 28 Jun 2024 00:00:00 +0700 ศิลปะตกแต่งกับการสร้างความร่วมมือเพื่อแหล่งท่องเที่ยวชนบท กรณีศึกษาตลาดโบราณร้อยปี ชุมชนคุ้งสำเภา อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/258249 <p>บทความวิชาการนี้ ผู้เขียนได้ทบทวนวิทยานิพนธ์เรื่อง “ศิลปะและการออกแบบกิจกรรมการมีส่วนร่วมเพื่อแหล่งท่องเที่ยวชนบท” โดยศึกษาและสำรวจพื้นที่เป้าหมายและทดลองสร้างกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับศิลปะหลายรูปแบบ เพื่อวิเคราะห์ผลของกิจกรรมที่สร้างความตระหนักให้ผู้มีส่วนได้เสียต่อยอดสู่กิจกรรมที่กระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ กิจกรรมสตรีตอาร์ตสร้างจุดเช็กอิน กิจกรรมถ่ายภาพแฟชั่นคอสเพลย์กับรถโบราณ และสตรีตอาร์ต กิจกรรมสร้างสรรค์เมนูอาหารด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น กิจกรรมเขียนภาพทิวทัศน์-วิถีชีวิตชุมชนโดยนักท่องเที่ยวจากการสังเกตและวิเคราะห์ผลการศึกษาพบว่า กิจกรรมศิลปะตกแต่งสตรีตอาร์ตสร้างจุดเช็กอิน ในชุมชนริมน้ำเก่าแก่แห่งแรกของอำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท สามารถสร้างการมีส่วนร่วมได้มากที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับกิจกรรมทางศิลปะอื่นที่ผู้เขียนดำเนินการ เพราะกิจกรรมสตรีตอาร์ตต้องได้รับความเห็นชอบและยินยอมให้ดำเนินการโดยเจ้าบ้าน ทายาท หรือผู้มีอำนาจ ในอสังหาริมทรัพย์ที่ศิลปินสนใจสร้างสรรค์ในพื้นที่ และด้วยผลของเทคโนโลยีสื่อสารในสังคมออนไลน์ท้องถิ่นสัมพันธ์ปัจจุบันทำให้ชุมชนในท้องถิ่นเกิดการตื่นตัว แบ่งปันและบอกต่อข้อมูลความแปลกใหม่จนกลายเป็นกระแสอย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสให้ผู้เขียนสามารถขยายผลสู่การได้รับความร่วมมือทั้งในและนอกชุมชนร่วมกันจัดตลาดนัดรองรับผู้สนใจแวะมาท่องเที่ยว กระทั่งสามารถได้รับการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นได้สำเร็จ โดยความร่วมมือนี้เป็นไปตามกรอบแนวคิดทฤษฎีทางเศรษฐกิจ CSV (Creating Shared Value) ที่เป็นการแบ่งปันคุณค่าร่วมกันระหว่างชุมชนเจ้าของพื้นที่และภายนอก</p> ชัยณรงค์ อริยะประเสริฐ Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/258249 Mon, 17 Jun 2024 00:00:00 +0700 กระบวนการขับเคลื่อนศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกก บ้านห้วยตาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/259127 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาบริบทวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกก บ้านห้วยตาด และ 2) ศึกษากระบวนการขับเคลื่อนศักยภาพวิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกก บ้านห้วยตาด อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล จำนวน 15 คน ได้มาโดยวิธีการเจาะจง ดังนี้ นักพัฒนาชุมชน นักออกแบบและพัฒนา กลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้นำชุมชน และวัฒนธรรมอำเภอ ใช้แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง ประเด็นการสนทนากลุ่ม และประเด็นการประชุมเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวบข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา</p> <p>ผลการวิจัยพบว่า 1) วิสาหกิจชุมชนกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกกบ้านห้วยตาด เกิดจากการรวมตัวกันของปราชญ์ท้องถิ่น ตั้งกลุ่มขึ้นเพื่อสร้างรายได้เสริมจากงานเกษตรกรรม ระยะแรกทำการทอเฉพาะเสื่อกก ต่อมาได้พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ให้เป็นทางเลือกสำหรับผู้ซื้อและเป้าหมาย ด้วยสถานการณ์โควิด 19 และสภาพทางเศรษฐกิจทำให้สมาชิกกลุ่มบางส่วนหยุดการผลิต ซึ่งด้านจุดแข็งของกลุ่ม คือ มีความคิดสร้างสรรค์ ผลิตงานต้นแบบได้ จุดอ่อน คือ ผลิตภัณฑ์ขาดอัตลักษณ์ ส่วนความต้องการพัฒนา คือ ผลิตภัณฑ์ใหม่ ที่มีอัตลักษณ์ชุมชน และ 2) กระบวนการขับเคลื่อนศักยภาพกลุ่มหัตถกรรมจากเสื่อกกบ้านห้วยตาด ใช้กลยุทธ์การพัฒนาศักยภาพกลุ่มด้วยกระบวนการมีส่วนร่วม มีขั้นตอน ดังนี้ ขั้นที่ 1 การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สภาพปัญหา ขั้นที่ 2 การวิเคราะห์ SWOT analysis และ TOW matrix เพื่อกำหนดกลยุทธ์การขับเคลื่อนกลุ่ม ขั้นที่ 3 การตรวจสอบและประเมินกลยุทธ์การขับเคลื่อนกลุ่ม ขั้นที่ 4 การนำกลยุทธ์มาสู่การทดลองปฏิบัติการ และ ขั้นที่ 5 การติดตามและวิจารณ์ผลการพัฒนาด้วยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมของสมาชิกและเครือข่ายความร่วมมือ</p> ไทยโรจน์ พวงมณี, คชสีห์ เจริญสุข, พชรมณ ใจงามดี, นัยนา อรรจนาทร Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/259127 Mon, 22 Apr 2024 00:00:00 +0700 แผนผังสายธารคุณค่าของกิจกรรมดำน้ำตื้นในจังหวัดตรัง https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/259989 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์และปรับปรุงแผนผังสายธารคุณค่า ของกิจกรรมดำน้ำตื้นในจังหวัดตรัง ใช้วิธีวิจัยเชิงคุณภาพด้วยแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง เพื่อสัมภาษณ์เชิงลึก แบบมีเกณฑ์กับผู้ประกอบการนำเที่ยว 7 บริษัท และสัมภาษณ์แบบแนะนำต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องในกิจกรรมดำน้ำตื้น 34 คน วิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลลักษณะการดำเนินงานของการจัดกิจกรรมดำน้ำตื้นโดยภาพรวมด้วยการวิเคราะห์คำหลัก เพื่ออธิบายให้เห็นลักษณะของกิจกรรม 3 ลักษณะ คือ 1) กิจกรรมที่มีมูลค่า 2) กิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่เพิ่มมูลค่า และ 3) กิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า</p> <p>ผลการวิจัย พบว่า ในการจัดกิจกรรมดำน้ำตื้นของจังหวัดตรัง มีกิจกรรมที่มีมูลค่า จำนวน 4 กิจกรรม คือ 1) กิจกรรมดำน้ำตื้น 2) การบริการอาหารและเครื่องดื่ม 3) การจัดรวมแพ็กเกจ และ 4) การบริการต่าง ๆ กิจกรรมที่จำเป็นแต่ไม่เพิ่มมูลค่า จำนวน 4 กิจกรรม คือ 1) การดูแลรักษาและบำรุงเครื่องใช้อุปกรณ์ต่าง ๆ 2) การใช้เวลาไปโดยที่ไม่เกิดงาน 3) การจ้างช่างเครื่องประจำไปในเรือตามข้อบังคับ 4) สำรองค่าเครื่องเรือ และกิจกรรมที่ไม่เพิ่มมูลค่า จำนวน 5 กิจกรรม คือ 1) การบริการหรือรับจองกิจกรรมอื่นที่นอกเหนือจากโปรแกรม 2) การคุยรายละเอียดต่าง ๆ นานเกินไป 3) การสลับโปรแกรมในช่วงที่น้ำขึ้น 4) การเตรียมของและวัตถุดิบสำรองไว้มากเกินไป 5) การปฏิบัติหน้าที่บางอย่างที่เกินความจำเป็น ซึ่งผู้ประกอบการนำเที่ยว สามารถนำผลการศึกษาไปปรับใช้เพื่อปรับปรุงและเพิ่มมูลค่าในกระบวนการให้บริการของกิจกรรมดำน้ำตื้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น</p> จุติมา บุญมี, กันฑิมาลย์ จินดาประเสริฐ Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/259989 Tue, 07 May 2024 00:00:00 +0700 โมเดลการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 เชียงราย https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/260762 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการดำเนินงานของเกษตรกรในเครือข่าย ผู้ปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 จังหวัดเชียงราย ตามแนวคิดการปลูกข้าวแบบ Eco Rice แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และผลลัพธ์ความยั่งยืนที่เกิดขึ้น และ 2) ศึกษาหาความสัมพันธ์และการส่งผลของแนวคิดการปลูกข้าวแบบ Eco Rice แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG แนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่มีต่อผลลัพธ์ความยั่งยืนที่เกิดขึ้นของเกษตรกรในเครือข่ายผู้ปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู 8974 จังหวัดเชียงราย เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ โดยใช้แบบสอบถามสำรวจข้อมูลกับเกษตรกรที่เป็นสมาชิกของเครือข่ายทั้งหมด จำนวน 92 ราย และดำเนินการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณเพื่อหาความสัมพันธ์และการส่งผลของตัวแปร</p> <p>ผลการวิจัย พบว่า 1) เครือข่ายเกษตรกรมีการปลูกข้าวแบบ Eco Rice ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง โดยเป็นรูปแบบการปลูกข้าวแบบเกื้อกูลสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ แบบส่งเสริม และแบบหนุนเสริม ตามลำดับ การดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจสีเขียวสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจหมุนเวียน และด้านเศรษฐกิจชีวภาพ ตามลำดับ การดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีการดำเนินงานด้านทุนทางสังคมสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ด้านการตลาดเชิงสร้างสรรค์ และน้อยที่สุด ได้แก่ ด้านศักยภาพเครือข่ายทางสังคม ผลลัพธ์ความยั่งยืนที่เกิดขึ้น ภาพรวมเกิดขึ้นในระดับมาก โดยความยั่งยืนด้านสังคมมีค่าสูงที่สุด รองลงมา ได้แก่ ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ และความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ตามลำดับ และ 2) การปลูกข้าวแบบ Eco Rice ส่งผลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานตามแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ที่ระดับ 0.47 และส่งผลทางบวกต่อการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ระดับ 0.45 การดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ส่งผลทางบวกอย่างมีนัยสำคัญต่อการดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ระดับ 0.48 และส่งผลทางบวกต่อความยั่งยืนที่เกิดขึ้น ที่ระดับ 0.39 การดำเนินงานตามแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ส่งผลทางบวกต่อความยั่งยืนที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ที่ระดับ 0.42 ตามลำดับ</p> กษิดิศ ใจผาวัง, เสริมศิริ นิลดำ, ศิริพรรณ จีนะบุญเรือง, นิเวศ จีนะบุญเรือง Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/260762 Tue, 14 May 2024 00:00:00 +0700 การศึกษาสถานการณ์ปัจจุบันและสภาพปัญหาของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรต่อการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียน https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/260168 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์ปัจจุบัน และปัญหาอุปสรรคของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร ต่อการดำเนินการตามกรอบความตกลงอาเซียน โดยใช้การวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึก กลุ่มตัวอย่างคือผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศ รวมทั้งสิ้น 7 คน ประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่เคยมีการส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปต่างประเทศ 4 ราย&nbsp; และผู้ประกอบการที่ไม่เคยมีการส่งออกไปต่างประเทศ 3 ราย โดยผู้วิจัยใช้การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพรรณนา</p> <p>ผลการศึกษาพบว่า การปรับกฎระเบียบและวิธีการรับรองผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามมาตรฐานกรอบความตกลงอาเซียน ยังไม่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศไทย และปัจจุบันผู้ประกอบการยังไม่มีความพร้อมในการปฏิบัติตามมาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากปัญหาหลัก 3 ประการ คือ (1) ภาระค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้นในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การตรวจทางห้องปฏิบัติการและการทดสอบความคงสภาพ รวมถึงการปรับปรุงสถานที่และการจ้างบุคลากรเฉพาะทางที่เพิ่มขึ้น แต่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ที่สูงขึ้น (2) การขาดองค์ความรู้ ขาดคู่มือ และช่องทางการสื่อสารในการให้ข้อมูลที่เหมาะสม ตลอดไปจนถึงขาดการให้คำปรึกษาหรือตอบข้อสงสัยแก่ผู้ประกอบการ (3) การขาดแรงจูงใจในการปฏิบัติตามกรอบความตกลงอาเซียน เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังเป็นโรงงานขนาดเล็กถึงกลาง มีข้อจำกัดด้านเงินทุน และไม่มีเป้าหมายที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์สมุนไพรไปต่างประเทศ ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีการส่งออก และปฏิบัติตามแนวทางอาเซียนแล้วก็พบปัญหานโยบายการกีดกันทางการค้าที่กำหนดขึ้นเองในต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการเหล่านี้เห็นว่าการยกระดับมาตรฐานการผลิตตามกรอบความตกลงอาเซียนไม่ได้ช่วยสนับสนุนการส่งออกอย่างแท้จริง จึงไม่เห็นถึงความคุ้มค่าที่จะลงทุนเพิ่ม นอกจากนี้ยังพบปัญหาอื่นๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำของมาตรฐานที่ใช้ในการควบคุมกำกับระหว่างโรงงานภาครัฐและเอกชน การควบคุมการโฆษณา และขาดมาตรการในการสนับสนุนการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศ เป็นต้น</p> นูรวานี กาเหร็มกา, จริญญา พรหมจินดา, อมราวรรณ เพ็ญตระการ Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/260168 Tue, 04 Jun 2024 00:00:00 +0700 ประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของเมืองมีนบุรี https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/259823 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์และการเปลี่ยนแปลงของเมือง มีนบุรี และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง นับแต่เริ่มต้นตั้งถิ่นฐานของกลุ่มชนต่าง ๆ ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์จนถึงการพัฒนาเข้าสู่สังคมผลิตข้าวและสังคมอุตสาหกรรมในปัจจุบัน งานวิจัยนี้ ใช้วิธีการศึกษาแบบประวัติศาสตร์ที่มีการแบ่งช่วงระยะเวลาการศึกษา โดยแบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น การตั้งถิ่นฐานของคนกลุ่มต่าง ๆ (สมัยต้นรัตนโกสินทร์ถึงทศวรรษ 2410) ระยะที่สอง สังคมการผลิตข้าว (ทศวรรษ 2420-2490) ในช่วงเวลานี้ ใน พ.ศ. 2445 มีการตั้งเมืองมีนบุรี สังคมไทยเดินหน้าสู่การผลิตข้าวเพื่อการส่งออก และระยะที่สาม ระยะเข้าสู่สังคมเมืองอุตสาหกรรมและเป็นเมืองอยู่ในปริมณฑลของเมืองกรุงเทพฯ (พ.ศ. 2500-ปัจจุบัน) วิถีชีวิตของชาวนาค่อย ๆ หมดไป ประชาชนได้ปรับตัวเข้าสู่เมืองใหม่ที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้</p> พรรณี บัวเล็ก Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/259823 Thu, 30 May 2024 00:00:00 +0700 ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลในจังหวัดเชียงใหม่ตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/258635 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ ผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลปัจจัยด้านธุรกิจโฮสเทล จากผู้ประกอบการธุรกิจโฮสเทลที่ตั้งอยู่ในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 30 แห่ง โดยใช้แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินการปฏิบัติตามมาตรการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ หลังจากนั้นใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูลปัจจัยด้านผู้ใช้บริการ และความพึงพอใจ ของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ จากลูกค้าชาวไทยและชาวต่างชาติ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบปกติ</p> <p>ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการปฏิบัติตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ของธุรกิจโฮสเทลในระดับมากที่สุด ปัจจัยด้านผู้ใช้บริการที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ อายุ เชื้อชาติ เหตุผลที่เข้าพัก จำนวนคืนที่เข้าพัก ประเภทห้องพัก จำนวนผู้เข้าพัก ประเภทลูกค้า ความเครียดและความกังวลใจต่อสถานการณ์โควิด-19 ปัจจัยด้านธุรกิจโฮสเทลที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจของผู้ใช้บริการธุรกิจโฮสเทลตามการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ได้แก่ รูปแบบการประกอบธุรกิจ อายุธุรกิจ การไม่มีสาขา จำนวนผู้ให้บริการ การได้รับมาตรฐาน SHA และการปฏิบัติตามมาตรการท่องเที่ยววิถีปกติใหม่</p> จิรวรรณ บุญมี, ธวัชชัย บุญมี Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/258635 Tue, 28 May 2024 00:00:00 +0700 การบริหารจัดการวิสาหกิจชุมชนสมุนไพรสู่การลดความเหลื่อมล้ำมิติเศรษฐกิจ https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/261282 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนารูปแบบการจัดการแปลงปลูกสมุนไพรสู่การเพิ่มศักยภาพการผลิต และ 2) สร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันหอมระเหย เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพ โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โดยกลุ่มเป้าหมายจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนสมุนไพร กลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกสมุนไพร และกลุ่มที่ได้รับประโยชน์โดยตรง และโดยอ้อม ในพื้นที่ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร ด้วยวิธีการคัดเลือกแบบเจาะจง จำนวน 40 คน โดยใช้แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึก และจัดเสวนากลุ่ม เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล และใช้การวิเคราะห์เนื้อหา ในการวิเคราะห์ข้อมูล</p> <p>ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบการจัดการแปลงปลูกสมุนไพร มีองค์ประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ (1) ระบบบริหารจัดการแปลงสมุนไพรมาตรฐานแบบเกื้อกูลที่สามารถเพิ่มปริมาณการเพาะปลูก 2,321 ต้น/ไร่ คิดเป็น 4.00 เท่า (2) ระบบการจัดการกลุ่มบนฐานการผลิต และผลิตภัณฑ์อย่างมีส่วนร่วม และ (3) การจัดการข้อมูลชุมชนสู่คู่มือองค์ความรู้ที่กระตุ้นการเรียนรู้ สู่การสร้างรายได้ของชุมชน และ 2) การสร้างมูลค่าเพิ่มสมุนไพรด้วยเทคโนโลยีการสกัดน้ำมันหอมระเหย ก่อเกิดผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจชุมชน ได้แก่ น้ำมันนวดสมุนไพร ถ่านหอมสมุนไพร และน้ำมันหอมระเหยสมุนไพร จากการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมของชุมชนบนฐานข้อมูล ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ในการดูแลเกื้อกูลชุมชน และลดการพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอก ก่อเกิดรายได้เฉลี่ยหลังมีโครงการ 53,785 บาท/ปี/ครัวเรือน ส่งผลให้จำนวนผู้มีรายได้น้อยกว่าเส้นความยากจนลดลง 0.14 เท่า ชี้ให้เห็นว่าการวิจัยในครั้งนี้ เกิดการลดความเหลื่อมล้ำมิติเศรษฐกิจ</p> อัสฉรา นามไธสง, ศักดิ์ดา แสนสุพรรณ, สันติ ผิวผ่อง, ญาณวิจา คำพรมมา , เทพกร ลีลาแต้ม , วุฒิชัย รสชาติ Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/261282 Wed, 05 Jun 2024 00:00:00 +0700 การวิเคราะห์เนื้อหาผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีดนตรีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/262252 <p>บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์เนื้อหาผลงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ทางเทคโนโลยีดนตรีของนักศึกษาระดับปริญญาบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีสากล มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม ในปีการศึกษา 2566 จำนวน 21 งาน วิธีวิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเอกสาร (Documentary Research) เครื่องมือวิจัย คือ แบบบันทึกการวิเคราะห์เนื้อหา การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) โดยการตีความและให้รหัสเพื่อจำแนกงานวิจัยตามลักษณะและประเด็นการศึกษาทั้ง 4 ด้าน คือ 1) แรงบันดาลใจและแนวคิด 2) รูปแบบงานสร้างสรรค์ 3) เทคนิควิธีและเทคโนโลยี และ 4) เนื้อหาสาระ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ สถิติเชิงบรรยาย ได้แก่ ความถี่ และร้อยละ</p> <p>ผลการวิจัยพบว่า 1) แรงบันดาลใจและแนวคิดในการวิจัยเชิงสร้างสรรค์ ได้แก่ การใช้ประสบการณ์ในอดีต ความท้าทายในการทดลองใช้เทคโนโลยี อิทธิพลทางดนตรี งานอดิเรก วรรณกรรมและเรื่องราวในจินตนาการ และมุมมองและทัศนคติส่วนบุคคล 2) รูปแบบงานสร้างสรรค์ ได้แก่ การแสดงดนตรีประกอบภาพเคลื่อนไหวแบบถ่ายทำจากเหตุการณ์จริง การแสดงดนตรีประกอบภาพเคลื่อนไหวแอนิเมชัน การแสดงดนตรีประกอบภาพยนตร์ และการแสดงดนตรีโดยใช้นวัตกรรมควบคุมอุปกรณ์ 3) เทคนิควิธีและเทคโนโลยีที่ใช้ เช่น โฟลีย์ (Foley) ออดิโอแซมปลิง (Audio Sampling) การสังเคราะห์เสียง สต็อปโมชัน การสร้างภาพเคลื่อนไหวโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ ลูป แกรนูลาร์ ซินธีซิส (Granular Synthesis) เป็นต้น และ 4) เนื้อหาสาระด้านคีตลักษณ์ที่ใช้ ได้แก่ ทรู-คอมโพส และเวิร์ส-คอรัส ข้อเสนอแนะ คือ ควรผลักดันให้นักศึกษาต่อยอดการทำวิจัยสร้างสรรค์บนฐานของผลงานในอดีต โดยสนับสนุนให้อาจารย์ที่ปรึกษาแนะแนวทางบนพื้นฐานของข้อค้นพบจากงานวิจัยนี้ และควรขยายการศึกษาแบบการสังเคราะห์งานวิจัยให้ครอบคลุมผลงานวิจัยสร้างสรรค์ทางดนตรีที่มีทั้งหมด โดยอาจจัดทำในรูปแบบงานวิจัยประเภทการทบทวนขอบเขต (Scoping Review)</p> ปองภพ สุกิตติวงศ์, ธนัช ชววิสุทธิกูล, ประเสริฐ ฉิมท้วม, รณชัย ชลวิชิต, พิสิษฐ์ เอมดวง Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/262252 Fri, 28 Jun 2024 00:00:00 +0700 บทบาทของผ้าทอในพิธีกรรมกินแขก-กุนตายของคนไทในลุ่มน้ำโขง https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/261303 <p>บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของผ้าทอในพิธีกรรมการแต่งงานและพิธีกรรมหลังความตายของกลุ่มชาติพันธุ์ไทที่อาศัยอยู่ลุ่มแม่น้ำโขง 3 ชุมชน ได้แก่ 1) บ้านโพนทอง อำเภอบ้านแพง จังหวัดนครพนม ประเทศไทย 2) บ้านตาแหลว เมืองจำพอน แขวงสะหวันนะเขต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว 3) บ้านจ่า เขตปกครองตนเองชนชาติไทสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน เก็บข้อมูลภาคสนามระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ถึง เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2566 โดยมีผู้ให้ข้อมูลสำคัญ จำนวน 15 คน ด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสัมภาษณ์กลุ่ม วิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลเชิงพรรณนาวิเคราะห์</p> <p>ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มชาติพันธุ์ไททั้ง 3 ชุมชน ยังมีแนวปฏิบัติพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต ทั้งพิธีกรรมการแต่งงาน (กินดอง หรือกินแขก) และพิธีกรรมหลังความตาย (งันเฮือนดี หรือกุนตาย) โดยพิธีกรรมดังกล่าวใช้ผ้าทอมือเป็นวัตถุสัญลักษณ์สำคัญในการประกอบพิธีกรรม ในพิธีกรรมกินดองผู้หญิงจะผลิตผ้าทอและหาซื้อผ้าทอเพื่อใช้เป็นเครื่องแต่งกาย เครื่องไหว้ เครื่องใช้ และเครื่องนอน ส่วนพิธีกรรมกุนตายผ้าทอจะถูกนำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายศพ ผ้าคลุมโลงศพ ตลอดจนการประกอบพิธีกรรมอุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้ตายก็นิยมทอตุงหรือธุง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ส่งวิญญาณผู้ตาย ผ้าทอจึงสะท้อนให้เห็นวิถีชีวิตของกลุ่มชนชาติไทที่ผูกพันกับความเชื่อดั้งเดิมและความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ด้านบทบาทของผ้าทอในพิธีกรรมเกี่ยวกับชีวิต พบว่า มีบทบาท 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) บทบาทในการแสดงตัวตนของผู้หญิง 2) บทบาทในการแสดงโลกทัศน์โลกหลังความตาย 3) บทบาทการสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจของชุมชน และ 4) บทบาทในการธำรงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนไท</p> พรรณวดี ศรีขาว, ภัทรลดา ทองเถาว์, แลนต้า เกดอู่คำ, ไอลดา ทิพย์เสนา Copyright (c) 2024 มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม https://creativecommons.org/licenses/by-nc-nd/4.0 https://li01.tci-thaijo.org/index.php/crujournal/article/view/261303 Fri, 28 Jun 2024 00:00:00 +0700