การพัฒนาเครือข่ายการดูแลผู้ป่วยโรคลมชักอย่างครบวงจร
Abstract
การให้บริการโรคลมชักในภาคอีสาน มีปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญคือ การขาดแคลนบุคลากรทาง
การแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะโรคลมชัก มีเครื่องมือที่ช่วยในการวินิจฉัยไม่เพียงพอ ขาดแคลนยากันชักและการตรวจวัดระดับยากันชักในกระแสเลือด ไม่มีแนวทางปฏิบัติในการรักษาและระบบการรักษาขาดการเชื่อมโยงระหว่างโรงพยาบาลและหน่วยบริการต่างๆ ทำให้โรงพยาบาลไม่สามารถปฏิบัติตามแนวทางการรักษาของระดับประเทศได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคลมชัก จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไข โดยต้องอยู่บนพื้นฐานของทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งแนวทางการแก้ไขปัญหาในการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในภาคอีสานที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้มากที่สุด คือ การพัฒนาการสร้างเครือข่ายการให้บริการรักษาผู้ป่วยโรคลมชักในเขตพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเขต 7 เพราะจะสามารถพัฒนาการให้บริการที่มีคุณภาพดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ โดยกิจกรรมที่ต้องทำประกอบด้วย การพัฒนาองค์ความรู้ด้านการรักษาโรคลมชัก การสร้างเครือข่ายการให้บริการและการพัฒนาต้นแบบแนวทางการรักษาที่เหมาะสม