ขาเน่า...ต้องตัดขา จริงหรือไม่?
Abstract
ขาเน่า (Gangrene) คือการที่เนื้อเยื่อทั้งหมดของอวัยวะนั้นตาย เช่น นิ้วเท้า ก็จะมีการตายของทั้งผิวหนัง ชั้นไขมันใต้ผิวหนัง กล้ามเนื้อ และกระดูก ซึ่งสามารถแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
1. Wet gangrene คือ การที่มีเนื้อตายร่วมกับมีการติดเชื้อ ลักษณะที่พบมักแฉะ มีกลิ่นเหม็นซึ่งกลุ่มนี้มีความจำเป็นต้องกำจัดส่วนที่ติดเชื้อ เพื่อป้องกันการติดเชื้อลุกลามหรือติดเชื้อในกระแสเลือด
2. Dry gangrene คือการที่มีเนื้อตายสีดำแข็ง ไม่ค่อยมีกลิ่นและเหี่ยว (Nitel Singh, 2009)
ปัจจุบันความรู้เกี่ยวกับโรคหลอดเลือดแดงของขาตีบหรืออุดตันที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงนิ้วหรือส่วนปลายของรยางค์ไม่เพียงพอนั้นยังไม่เป็นที่เข้าใจของแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไปและศัลยแพทย์ที่พบผู้ป่วยตั้งแต่แรกเริ่ม ส่วนใหญ่เมื่อแพทย์พบผู้ป่วยที่มาด้วยเนื้อเยื่อส่วนปลายตาย มีลักษณะดำ แข็ง จะทำการรักษาโดยการตัดเนื้อเยื่อส่วนนั้นทิ้งไปโดยไม่ได้นึกถึงโรคหลอดเลือดแดงของขาตีบหรืออุดตัน ทำให้ไม่มีการตรวจว่าเลือดที่มาเลี้ยงปลายขา/เท้ามีความเพียงพอหรือไม่ ทำให้ในผู้ป่วยหลายรายที่ปริมาณเลือดมาเลี้ยงส่วนปลายไม่เพียงพอแต่เดิมอยู่แล้วเมื่อมีการตัดเนื้อตายทิ้งไป แผลที่เกิดขึ้นต้องการปริมาณเลือดเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้แผลหายแต่เลือดที่มาไม่เพียงพอทำให้เนื้อเยื่อเน่าตายลามขึ้นและยังคงรักษาด้วยการทำการผ่าตัดตัดเนื้อตายมากขึ้นเรื่อยๆจนสุดท้ายผู้ป่วยจึงต้องเสียขาและแขนข้างนั้นไปเพราะฉะนั้นเมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยเนื้อตายจึงควรมีการประเมินเบื้องต้นว่าผู้ป่วยนั้นมีความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดแดงของขาตีบหรืออุดตันหรือไม่ เช่น สูบบุหรี่, เบาหวาน, ไขมันในเลือดสูง, ไตวาย เป็นต้น ดังภาพที่ 1 ตามด้วยการตรวจร่างกายว่ามีลักษณะบ่งชี้ของการขาดเลือดเรื้อรังหรือไม่ เช่น ผิวหนังมันวาว, ไม่มีขน, ชั้นไขมันใต้ผิวหนังบาง, กล้ามเนื้อลีบ ร่วมกันการตรวจ Ankle-Brachial Index (ABI)(Garcia, 2006; Muir, 2009; Weragoda, Seneviratne, Weerasinghe, & Wijeyaratne, 2016)