ลูกมะค่านวดเข่าในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการปวดเข่าในโรคเข่าเสื่อม
Keywords:
มะค่า, นวดเข่าAbstract
หลักการและวัตถุประสงค์ : จากข้อมูล โปรแกรมประเมินคัดกรองผู้สูงอายุ อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี พบว่า ข้อเข่ามีปัญหา จำนวน 2,006 ราย (ร้อยละ 16.77) ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะหกล้ม จำนวน 22 ราย (ร้อยละ 1.86) และในปี พ.ศ. 2559 เพื่อให้ผู้ป่วยที่มีอาการปวดเข่าสามารถดูแลตัวเองได้ที่บ้าน ทางโรงพยาบาลจึงได้จัดทำลูกมะค่านวดเข่าให้ผู้ป่วยกลับไปทำการนวดเองที่บ้าน มะค่าโมง ชื่อวิทยาศาสตร์ Afzelia xylocarpa (Kurz) Craib ชื่อวงศ์ Leguminosae-Caesalpiniaceae ส่วนชื่ออื่นๆ ได้แก่ มะค่าใหญ่ มะค่าโมง (ภาคกลาง) มะค่าหลวง มะค่าหัวคำ (ภาคเหนือ) เขง เบง (สุรินทร์) บิง (จันทบุรี) ปิ้น มะค่าโมง (นครราชสีมา) ฟันฤาษี แต้โหล่น ตำรายาไทย ลำต้นบริเวณที่เป็นปุ่ม รสเบื่อเมา เป็นยาถ่ายพยาธิ และรักษาโรคผิวหนัง หรือต้มเอาไอรมหัวริดสีดวงทวารทำให้แห้ง การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้ลูกมะค่านวดเข่า ในผู้ป่วยสูงอายุที่มีอาการปวดเข่าและโรคเข่าเสื่อม
วิธีการศึกษา : ประชากรกลุ่มตัวอย่างสุ่มแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จากอาสาสมัครจำนวน 80 ราย ได้รับการคัดกรองตามแบบคัดกรองเข่าทางคลินิก 5 ข้อไม่มีภาวะแรกซ้อนที่อันตราย ในคลินิกผู้สูงอายุทุกวันพุธของสัปดาห์ โดยการวัดค่า Pain Scale ก่อนและหลังใช้ลูกมะค่า โดยนวดสาธิตการนวดลูกมะค่าด้วยตัวเอง นวดเป็นเวลา 15 นาทีต่อครั้ง ทำ 2 ครั้ง/วัน (เช้าและเย็น) นัดมารักษาจำนวน 5 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 7 วัน โดยให้อาสาสมัครงดรับประทานยาลดปวดทุกชนิดในระหว่างการศึกษา
ผลการศึกษา: จากการศึกษาอาสาสมัครจำนวน 80 ราย อายุเฉลี่ย 74 ปี ก่อนใช้ลูกมะค่านวดหัวเข่า มีค่า Pain Scale เฉลี่ยระดับ 4 ระยะเวลาที่มีอาการปวด 3 วัน/สัปดาห์ หลังใช้ลูกมะค่านวดเข่า มีค่า Pain Scale เฉลี่ย ระดับ 1 ระยะเวลาที่มีอาการปวด 1 ครั้ง/สัปดาห์
สรุป : การใช้ลูกมะค่านวดเข่าด้วยตัวเองสามารถลดอาการปวดได้ถึง 3 ระดับ การกลับมารักษาซ้ำลดลงร้อยละ 60 และสามารถลดการใช้ยาแก้ปวดลง ร้อยละ 18