การศึกษาความสัมพันธ์การวัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดงด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติระหว่างเครื่อง Vesmatic easy และ iSED
Keywords:
อัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง, เครื่อง Vesmatic easy, เครื่อง iSEDAbstract
หลักการและวัตถุประสงค์: หน่วยจุลทรรศน์วินิจฉัยเปิดให้บริการตรวจวัดอัตราการตกตะกอนของเม็ดเลือดแดง (Erythrocyte sedimentation rate; ESR) ด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติ Vesmatic easy โดยเครื่องจะทำการวัดค่า ESR เทียบกับวิธี Westergren แบบ 1 ชั่วโมงโดยใช้เวลาในการตรวจวัด 20 นาที ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการตรวจวัด ESR ด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งพัฒนาให้ใช้เวลาในการตรวจวัดที่ลดลง เครื่อง iSED เป็นเครื่องอัตโนมัติที่ใช้เวลาเพียง 20 วินาที ซึ่งหากหน่วยจุลทรรศน์วินิจฉัยนำมาใช้เพื่อเปิดให้บริการตรวจวัด ESR จะทำให้การบริการผู้ป่วยมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น การศึกษาในครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์การวัด ESR ด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติระหว่างเครื่อง Vesmatic easy และ iSED
วิธีการศึกษา: ตรวจวัดค่า ESR ของผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์จำนวน 120 ราย ด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติ Vesmatic easy และ iSED วิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยใช้โปรมแกรม SPSS version 17.0ทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยด้วยสถิติ student t-test ศึกษาความสัมพันธ์ของค่า ESR ระหว่างเครื่อง Vesmatic easy และ iSED ด้วยสถิติ binary logistic regression analysis
ผลการศึกษา: จากการตรวจวัดค่า ESR ของผู้ป่วยจำนวน 120 ราย ด้วยเครื่องอัตโนมัติ Vesmatic easy และ iSED มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 40.4 + 27.1 มม/ชั่วโมง และ 63.5 + 35.1 มม/ชั่วโมง ตามลำดับ มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.001) สมการความสัมพันธ์ของค่า ESR ระหว่างตรวจวัดด้วยเครื่อง Vesmaticและ iSED คือ Y = 22.342 + 1.020X R = 0.788 R2 = 0.621 p-value < 0.001 ระดับความสัมพันธ์ ดี-ดีมาก
สรุป: ความสัมพันธ์การวัด ESR ด้วยวิธีใช้เครื่องอัตโนมัติระหว่างเครื่อง Vesmatic easy และ iSED มีระดับความสัมพันธ์ ดี-ดีมาก สามารถนำเครื่อง iSED มาใช้ทดแทนเครื่อง Vesmatic easy ในการตรวจวัด ESR ได้ โดยต้องทำการหาค่าอ้างอิงที่เหมาะสม