ผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพต่อการช่วยเหลือตัวเอง การป้องกันแผลกดทับ และคุณภาพชีวิต ในผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ไขสันหลัง
Keywords:
spinal cord lesion, self care, pressure ulcer, quality of lifeAbstract
หลักการเหตุผล และวัตถุประสงค์: ผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ไขสันหลัง มีความบกพร่องด้านการเคลื่อนไหว การช่วยเหลือตัวเอง ควบคุมการขับถ่ายไม่ได้ ทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น แผลกดทับ ผู้ป่วยไม่สามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิมทำให้คุณภาพชีวิตลดลง ดังนั้นผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับการฟื้นฟูสภาพโดยทีมสหสาขาวิชาชีพเวชศาสตร์ฟื้นฟูอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล ความไม่พร้อมของผู้ป่วย หรือเตียงที่หอผู้ป่วยที่มีจำกัด ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าพักรักษาในโรงพยาบาลเพื่อฟื้นฟูสภาพได้ในทันที ทีมสหสาขาวิชาชีพเวชศาสตร์ฟื้นฟู จึงได้จัดทำโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยนอกขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการฟื้นฟูสภาพที่บ้านด้วยตนเอง ดังนั้น การศึกษานี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยนอกต่อการช่วยเหลือตนเอง การป้องกันแผลกดทับ และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ไขสันหลัง
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการที่ห้องตรวจเวชศาสตร์ฟื้นฟู แผนกการพยาบาลผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีนครินทร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ไขสันหลัง เป็นผู้ป่วยรายใหม่ได้รับการวินิจฉัยโรคเป็น Paraplegia ไม่เคยได้รับการฟื้นฟูสภาพโดยทีมเวชศาสตร์ฟื้นฟูมาก่อน จำนวน 15 ราย โดยการให้ความรู้และสาธิตการดูแลตนเองตามโปรแกรมการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ไขสันหลัง ตามบทบาทของสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ แพทย์: ตรวจและประเมินร่างกาย ดูแลรักษาทางเวชศาสตร์ฟื้นฟู พยาบาล: การทำความสะอาดร่างกาย การขับถ่ายปัสสาวะ การขับถ่ายอุจจาระ การป้องกันแผลกดทับ นักกายภาพบำบัด: การออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกาย นักกิจกรรมบำบัด: การทำกิจวัตรประจำวันและการปรับสภาพบ้าน หลังจากนั้นผู้ป่วยจะได้รับสื่อวีดิทัศน์ และคู่มือการดูแลตนเองเพื่อทบทวนการดูแลตนเองต่อที่บ้าน ประเมินการช่วยเหลือตัวเอง การเกิดแผลกดทับ และคุณภาพชีวิตก่อนและหลังดำเนินงาน
ผลการศึกษา: หลังจากใช้โปรแกรมการฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยนอกผู้ป่วยไม่มีแผลกดทับเกิดขึ้น และที่มีแผลกดทับมาก่อน ร้อยละ 33.33 แผลหายทั้งหมดผู้ป่วยสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ร้อยละ 63.00 และคุณภาพชีวิตผู้ป่วย ดีขึ้นร้อยละ 86.70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)
สรุป: โปรแกรมการฟื้นฟูสภาพเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยที่มีรอยโรคที่ไขสันหลังรายใหม่ที่ยังไม่เคยรับการฟื้นฟูสภาพมาก่อน ซึ่งเป็นผู้ป่วยนอกที่ยังไม่มีความพร้อมในการนอนพักรักษาตัวเพื่อฟื้นฟูสภาพในโรงพยาบาล สามารถช่วยให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น ป้องกันภาวะแทรกซ้อนแผลกดทับได้ และ ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น