Factors Affecting Chronic Kidney Disease Prevention behavior among People in Na Duang District Loei, Province
Abstract
หลักการและวัตถุประสงค์ : ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังส่วนใหญ่ไม่ทราบว่าตนเองมีภาวการณ์ทำงานของไตที่แย่ลง ส่วนในกลุ่มประชาชนทั่วไปที่ได้รับเพียงการคัดกรองเบื้องต้นเท่านั้นจะทราบได้อย่างไรว่ามีความรู้ทัศนคติและพฤติกรรมป้องกันโรคไตวายเรื้อรังอย่างถูกต้อง วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันโรคไตวายเรื้อรังของประชาชน อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย
วิธีการศึกษา : การศึกษาเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross-sectional Research) มีการรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 356 ราย ใช้การสุ่มแบบหลายขั้นตอน (Multi-stage Sampling) โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 1 - 8 มีนาคม 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ สถิติเชิงพรรณนา และสถิติเชิงอนุมาน ใช้สถิติ Pearson Product Moment Correlation Coefficient และ One –way Anova
ผลการศึกษา : จากกลุ่มตัวอย่าง 356 ราย เป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.60 อายุระหว่าง 50-60 ปี อายุเฉลี่ย 58.24 ปี (35 ± 86 ปี) สถานภาพสมรสร้อยละ 86.10 มีภาวะสุขภาพอยู่ในกลุ่มปกติร้อยละ 80.21 และรู้จักโรคไตวายเรื้อรังร้อยละ 76.40 จากสื่อวิทยุ ร้อยละ 46.83 และมีระดับความรู้ อยู่ในระดับปานกลางค่าเฉลี่ย 3.32 (S.D. = 0.34) ระดับทัศนคติ อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.60 (S.D .= 0.41) และมีระดับพฤติกรรมการดูแลตนเองประชาชน อยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 3.42 (S.D. = 0.37) และ ในกลุ่มประชาชนที่มีภาวะสุขภาพ กลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย มีความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมการป้องกันโรคไตวายเรื้อรังไม่ต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป้องกันโรคไตวายเรื้อรังของประชาชน อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 ได้แก่ คุณลักษณะส่วนบุคคล ด้านภาวะสุขภาพ มีความสัมพันธ์ระดับปานกลางทางบวก (r = 0.322 , p = 0.014 ) ด้านความรู้ พบว่ามีความสัมพันธ์ระดับปานกลางทางบวก อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.610 , p <0.001) พบว่าคุณลักษณะส่วนบุคคลด้านด้านภาวะสุขภาพ (0.002) และ ปัจจัยด้านด้านความรู้ (0.006) สามารถพยากรณ์การป้องกันโรคไตวายเรื้อรังของประชาชน อำเภอนาด้วง จังหวัดเลย ได้ร้อยละ 51.8
สรุป : จากผลการศึกษาครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ควรมีการพัฒนาการให้ความรู้ สุขศึกษา ให้กับประชาชนให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพ เพื่อให้เกิดความรู้และตระหนักในพฤติกรรมการป้องโรคจนสามารถดูแลตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ