ระบบงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ : กรณีศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ : เขต 5 ราชบุรี

Authors

  • ระพีพรรณ ฉลองสุข ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม
  • สุรสิทธิ์ ล้อจิตรอำนวย ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม
  • น้ำฝน ศรีบัณฑิต ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม
  • สุวิดา ตั้งตระกูลธรรม ภาควิชาเภสัชกรรมชุมชน คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร พระราชวังสนามจันทร์ นครปฐม

DOI:

https://doi.org/10.69598/tbps.10.2.46-67

Keywords:

เภสัชกรรมปฐมภูมิ, เภสัชกร, บริการปฐมภูมิ

Abstract

      การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสถานการณ์การให้บริการระดับปฐมภูมิ และกำหนดรูปแบบงานเภสัชกรรมปฐมภูมิที่เหมาะสมสำหรับสถานบริการในเขตรับผิดชอบสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 5 ราชบุรี โดยการสำรวจ ข้อมูล วิเคราะห์รายงานต่าง ๆ การประชุมกลุ่ม การเข้าสังเกตการณ์ในการประชุมที่เกี่ยวข้องในช่วงเวลากรกฏาคม 2556 – มกราคม 2557 ด้วยแบบสอบถามและแบบบันทึกข้อมูล ข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณา ผลการศึกษาพบว่ากิจกรรมงานเภสัชกรรมปฐมภูมิที่มีการดำเนินการในเขต 5 มี 4 กิจกรรมหลักคล้ายกัน ได้แก่ งานบริหารเวชภัณฑ์ งานบริการส่งมอบและให้คำแนะนำการใช้ยา  ณ หน่วยบริการปฐมภูมิ งานดูแลผู้ป่วยและครอบครัวต่อเนื่องด้านเภสัชกรรม งานคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีรายงานกิจกรรมที่เกิดจากการวิเคราะห์ชุมชน หรือกิจกรรมที่สนองความต้องการของชุมชนอย่างชัดเจน ทั้งนี้รูปแบบงานทั้ง 4 กิจกรรมมีการดำเนินการเหมือนกันในสถานพยาบาลทั้งระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิ ปัญหาและอุปสรรคของการดำเนินการส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องบุคลากรที่ไม่เพียงพอ ภาระงานที่เพิ่มขึ้น

             ข้อเสนอแนะรูปแบบงานเภสัชกรรมปฐมภูมิที่เหมาะสมต้องสอดคล้องกับเป้าหมายงานบริการเภสัชกรรม คือ ความปลอดภัยจากการใช้ยา และการเพิ่มคุณภาพการใช้ยาของผู้ป่วย ดังนั้นแม้จะเป็นกิจกรรมเดียวกัน แต่จุดเน้นของกิจกรรมสำหรับสถานพยาบาลระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ และตติยภูมิควรแตกต่างกัน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการ ความคุ้มค่าของการให้บริการ และการทำงานเป็นทีม บนพื้นฐานบริบทของผู้ป่วย ครอบครัว และชุมชน ทั้งนี้การกำหนดกิจกรรมและตัวชี้วัดของงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ จึงต้องสอดคล้องและสะท้อนกับ 2 เป้าหมายภายใต้บริบทของชุมชน นอกจากนี้ เงื่อนไขสำคัญของการพัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิ 3 ประการ คือ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการต้องมีความเข้าใจในหลักการของงานบริการปฐมภูมิ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติต้องเปลี่ยนกรอบในการประเมินตัวชี้วัดและการจัดสรรงบประมาณให้สอดคล้องกับแนวคิดนี้ด้วย  การจัดทำฐานข้อมูลของการให้บริการที่สมบูรณ์ มีความเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยในทุกสถานบริการและเป็นปัจจุบัน และการปรับเปลี่ยนทัศนคติของบุคลากรสาธารณสุขจากการเป็นผู้ให้บริการด้านสุขภาพ เป็นผู้สนับสนุนผู้ป่วยในการดูแลสุขภาพ

Downloads

How to Cite

ฉลองสุข ร., ล้อจิตรอำนวย ส., ศรีบัณฑิต น., & ตั้งตระกูลธรรม ส. (2015). ระบบงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ : กรณีศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกัน สุขภาพถ้วนหน้าแห่งชาติ : เขต 5 ราชบุรี. Thai Bulletin of Pharmaceutical Sciences, 10(2), 46–67. https://doi.org/10.69598/tbps.10.2.46-67

Issue

Section

บทความวิจัย