การกลายพันธุ์ของเกสรดอกบัวเป็นกลีบดอก

Authors

  • ณรงค์ โฉมเฉลา เครือข่ายพืชปลูกพื้นเมืองไทย และสมาคมพืชสวนฯ และสมาคมไม้ประดับฯ
  • ณ. นพชัย ชาญศิลป์ ภาควิชาพืชศาสตร์ คณะเกษตรศาสตร์และทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก บางพระ ศรีราชา ชลบุรี

DOI:

https://doi.org/10.14456//tjg.2009.14

Keywords:

การซ้อนของกลีบดอก เกสรเพศผู้คล้ายกลีบดอก เกสรเพศผู้เป็นหมันคล้ายกลีบดอก เกสรเพศเมียเป็นหมันคล้ายกลีบดอก ‘สัตตปทุม’ ‘มังคลปทุม’ ‘ฉลองขวัญ’ ‘จงกลนี’

Abstract

การซ้อนของกลีบดอกบัว เกิดจากการกลายพันธุ์ของเกสร ส่วนใหญ่เป็นของเพศผู้ ไปเป็นกลีบดอก ในกรณีของบัวหลวง มีระยะที่เกสรเพศผู้ เปลี่ยนไปเป็นกลีบดอกหลายระยะ ตั้งแต่เป็นเกสรเพศผู้คล้ายกลีบดอก (petaloid stamen) ซึ่งมีก้านเกสร อับเรณู และรยางค์ ไปเป็นเกสรเพศผู้เป็นหมันคล้ายกลีบดอก (petaloid staminode) ซึ่งมีก้านเกสรที่เริ่มแผ่กว้างคล้ายกลีบดอก อับเรณูลีบ แต่ยังคงมีรยางค์อยู่ จนกระทั่งเป็นกลีบดอกที่สมบูรณ์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อบัว ‘ปทุม’ เปลี่ยนไปเป็น ‘สัตตบงกช’ หรือ ‘บุณฑริก’ เปลี่ยนไปเป็น ‘สัตตบุษย์’ บางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศเมียไปพร้อมๆ กัน โดยที่เกสรเพศเมีย จะโผล่ชูขึ้นมาเหนือฝักอ่อน หรือ bubble (pistilode) นอกจากนั้นยังมีการเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศเมีย ไปในทางกลีบดอกตั้งแต่ไม่สมบูรณ์ คือเป็นเกสรเพศเมียเป็นหมันคล้ายกลีบดอก (petaloid pistilode) ดังในบัว ‘สัตตบงกช’ บางสายพันธุ์ บางครั้งมีการเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศผู้ไปเป็นกลีบดอกที่สมบูรณ์ และเกสรเพศเมียสูญหายไป ดังในพันธุ์ ‘มังคลปทุม’

ในกรณีของบัวสาย มีการเปลี่ยนแปลง 5 แบบด้วยกัน ได้แก่ (1) การเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศผู้ เป็นเกสรเพศผู้เป็นหมันคล้ายกลีบดอก (petaloid staminode) ดังเช่นในพันธุ์ Midnight Embers และ Smoulder (2) การเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศผู้ เป็นเกสรเพศผู้คล้ายกลีบดอก (petaloid stamen) และเกสรเพศผู้เป็นหมันคล้ายกลีบดอก ดังเช่นในบัวฝรั่งหลายพันธุ์ (3) การเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศผู้ ไปเป็นกลีบดอกขนาดเล็ก ดังในพันธุ์ Midnight และ Alexis (4) การเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศผู้เป็นกลีบดอกอย่างสิ้นเชิง แต่เป็นกลีบดอกขนาดเล็กกว่ากลีบปรกติที่อยู่รอบนอกๆ รูปร่างและสีสันเหมือนกับกลีบดอกปรกติ ส่วนเกสรเพศเมียยังมีโครงสร้างเกือบปรกติ แต่ไม่ทำหน้าที่ ดังในพันธุ์ ‘ฉลองขวัญ’ และ (5) การเปลี่ยนแปลงของเกสรเพศผู้ เป็นกลีบดอกอย่างสมบูรณ์ และเกสรเพศเมียสูญหายไป ดังเช่นในบัว ‘จงกลนี’

การเกิดการซ้อนของดอก เป็นวิวัฒนาการในทางถอยหลังลงคลอง แต่เป็นสิ่งที่ปรารถนาของมนุษย์ เพราะดอกซ้อนมีขนาดใหญ่กว่า สวยกว่า เป็นหมัน บานได้ทนกว่า อีกทั้งยังไม่มีเรณู ที่อาจก่อให้เกิดโรคภูมิแพ้ในคนบางคน มนุษย์จึงคัดเลือกไปปลูกเป็นไม้ประดับ หรือไม้ตัดดอก เพื่อใช้ถวายพระ หรือจัดกระเช้าดอกไม้

References

เสริมลาภ วสุวัต. 2549. พัฒนาการปลูกบัวในประเทศไทย มีดีอย่างไรบ้าง. เอกสารประกอบการสัมมนาวิชาการเรื่อง “การพัฒนาบัวให้เป็นพืชเศรษฐกิจ” ในงานราชพฤกษ์ ๒๕๔๙ เชียงใหม่

Slocum, P.D. 2004. Waterlilies and Lotuses – Species, Cultivars, and New Hybrids. Timber Press, Portland, OR, USA.

Wang, Q. and Zhang, X. 2005. Lotus Flower – Cultivars in China. China Forestry Publishing House, Beijing, China.

Downloads

Published

2012-07-12

Issue

Section

Review Articles