Risk Assessment of Benzoic Acid and Sorbic Acid Exposures from Red Curry Paste Consumption in Bangkok and Suphanburi
Main Article Content
Abstract
เครื่องแกงเผ็ดเป็นเครื่องปรุงรสที่ได้รับความนิยมของคนไทย การผลิตและการเก็บรักษาระหว่างการจำหน่ายในสภาวะที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นสาเหตุที่เอื้อต่อการเจริญของเชื้อจุลินทรีย์ จากปัญหาดังกล่าวทำให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายบางรายนำกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกมาใช้ในเครื่องแกงเผ็ดเพื่อป้องกันการเน่าเสียการศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินความเสี่ยงของการได้รับสัมผัสกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก จากการบริโภคเครื่องแกงเผ็ดของผู้บริโภคในเขตภาคกลาง โดยทำการเก็บตัวอย่างเครื่องแกงเผ็ดที่จำหน่ายในตลาดสดของกรุงเทพมหานคร และสุพรรณบุรี รวม 33 ตัวอย่าง นำมาวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกโดย HPLC และสำรวจข้อมูลการบริโภคอาหารที่ประกอบจากเครื่องแกงเผ็ดจากประชากรของกรุงเทพมหานครและสุพรรณบุรีโดยใช้แบบสอบถามความถี่ในการบริโภคอาหาร นำข้อมูลมาประเมินความเสี่ยงของการได้รับสัมผัสกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิก จากการบริโภคเครื่องแกงเผ็ด โดยเปรียบเทียบกับค่าที่ร่างกายยอมรับได้ต่อวัน
ผลการศึกษาพบการเจือปนกรดซอร์บิก 1 ตัวอย่างจาก 33 ตัวอย่างของเครื่องแกงเผ็ด (25.94 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ส่วนการเจือปนกรดเบนโซอิกพบร้อยละ 56 ของตัวอย่างที่จำหน่ายในกรุงเทพมหานครที่ความเข้มข้น 8.23 - 5,477.48 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และจากสุพรรณบุรีพบร้อยละ 47 ที่ความเข้มข้น 12.46 - 1,605.62 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เมื่อนำข้อมูลไปประเมินความเสี่ยงของการได้รับกรดเบนโซอิกจากการบริโภคเครื่องแกงเผ็ดในอาหารที่มีส่วนประกอบของเครื่องแกงเผ็ด ในประชากรศึกษา พบว่าที่ระดับเฉลี่ยของการได้รับสัมผัสในกลุ่มประชากรศึกษา มีค่าร้อยละ 1.56 และ 0.51 ของ ADI ตามลำดับ และที่การได้รับสัมผัสระดับสูง (97.5 เปอร์เซ็นต์ไทล์) มีค่าร้อยละ 4.72 และ 1.60 ของ ADI การได้รับกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกจากการบริโภคเครื่องแกงเผ็ด จึงอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า ADI มาก แม้ผลการประเมินความเสี่ยงของการได้รับกรดเบนโซอิก และกรดซอร์บิกจากเครื่องแกงเผ็ดของผู้บริโภคในประชากรศึกษาจะค่อนข้างต่ำ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคอาจมีโอกาสได้รับกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกจากอาหารกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ ได้