การประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของการได้รับสัมผัสกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกจากการบริโภคก๋วยเตี๋ยวในนักศึกษามหาวิทยาลัย
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ปริมาณกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกในเส้นก๋วยเตี๋ยว 3 ชนิด ได้แก่ ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ เส้นเล็ก และเส้นหมี่ จำนวน 30 ตัวอย่าง จาก 10 ร้านที่จำหน่ายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ วิเคราะห์โดยเทคนิค High Performance Liquid Chromatography (HPLC) และประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของนักศึกษาจากปริมาณการรับสัมผัส เทียบกับค่าระดับความปลอดภัยที่ร่างกายสามารถรับได้ต่อวัน (Acceptable Daily Intake: ADI) ผลการวิเคราะห์พบกรดเบนโซอิกจำนวน 27 ตัวอย่าง (ร้อยละ 90) มีปริมาณ 0.85-666.90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในขณะที่ตรวจพบกรดซอร์บิกจำนวน 13 ตัวอย่าง (ร้อยละ 43.33) มีปริมาณ 0.5-359.43 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม พบปริมาณกรดเบนโซอิกเฉลี่ยสูงสุดในตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ (ค่าเฉลี่ย = 234.65±111.07 และค่ามัธยฐาน = 269.52) และพบปริมาณกรดซอร์บิกเฉลี่ยสูงสุดในตัวอย่างก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็ก (ค่าเฉลี่ย = 107.20±124.76 และค่ามัธยฐาน = 62.8) ปริมาณที่ตรวจพบทั้งหมดไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ผลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพของนักศึกษากรณี Worst-case scenarios ซึ่งใช้ข้อมูลความถี่และปริมาณสูงสุดในการบริโภคสำหรับการคำนวณ มีค่าความเสี่ยงเฉลี่ยและค่าความเสี่ยงระดับสูงในระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยมีค่าความเสี่ยงสูงสุดกรณีความเสี่ยงระดับสูงของการรับสัมผัสกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิกเท่ากับร้อยละ 981.30 และ 195.02 ของค่า ADI ตามลำดับ ซึ่งสามารถลดความเสี่ยงต่อสุขภาพด้วยการลดปริมาณการบริโภคลงเป็นบริโภคไม่เกิน 1 ชามต่อวัน