ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีที่มารับบริการในคลินิกวัยทองของโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
Abstract
มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่พบเป็นอันดับสองของการเจ็บป่วยมะเร็งในสตรีไทยและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านมในระยะรุนแรงได้ แต่พบว่าพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรียังอยู่ในระดับต่ำ การวิจัยครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงบรรยาย เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองในสตรีที่มารับบริการในคลินิก วัยทอง ของโรงพยาบาลศูนย์ยะลา โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลนราธิวาสราชนครินทร์ จำนวน 300 คน รวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามการรับรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมและการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง และพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง นำผลมาวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอนจากผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีการรับรู้เกี่ยวกับมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเองโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ พฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีวัยทองโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองคือ การรับรู้ประโยชน์ของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และสื่อวิทยุ/โทรทัศน์ โดยสามารถทำนายพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของกลุ่มตัวอย่างได้ร้อยละ 20.4 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะว่า บุคลากรทีมสุขภาพที่ให้บริการในคลินิกวัยทองของโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ควรมีความตระหนักและเอาใจใส่เกี่ยวกับการให้ความรู้ในการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีวัยทอง โดยคำนึงถึงปัจจัยด้านประโยชน์ของการตรวจเต้านมด้วยตนเอง และช่องทางในการกระตุ้นให้มีการตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอทางวิทยุ/โทรทัศน์ อันเป็นสื่อที่ชัดเจนและเข้าถึงประชาชนได้ง่าย ทำให้สตรีวัยทองสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ในระยะแรกเริ่ม ซึ่งจะช่วยลดอัตราการเกิดมะเร็งเต้านม ในระยะลุกลามหรือรุนแรงได้
คำสำคัญ : การตรวจเต้านมด้วยตนเอง สตรีวัยทอง
Downloads
Published
2011-09-14
How to Cite
โต๊ะกานิ ด., ทองคุปต์ บ., & ทุมมาลา ป. (2011). ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตรวจเต้านมด้วยตนเองของสตรีที่มารับบริการในคลินิกวัยทองของโรงพยาบาลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้. Princess of Naradhiwas University Journal, 1(1). Retrieved from https://li01.tci-thaijo.org/index.php/pnujr/article/view/53624
Issue
Section
Research Articles