ผลกระทบจากการใช้เถ้าถ่านหินบดละเอียดต่อกำลังอัดและความทนทานของคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีต
Abstract
บทความนี้มุ่งศึกษาการนำเถ้าถ่านหินซึ่งเป็นวัสดุเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มาใช้เป็นวัสดุปอซโซลานแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 เพื่อปรับปรุงคุณภาพของคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีต โดยหล่อคอนกรีตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ให้มีอัตราส่วนน้ำต่อวัสดุประสานเท่ากับ 0.48 ควบคุมค่าการยุบตัวให้อยู่ระหว่าง 5 ถึง 10 ซม. ใช้เถ้าถ่านหินบดละเอียดแทนที่ปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภทที่ 1 ในอัตราส่วนร้อยละ 20, 35 และ 50 โดยน้ำหนักวัสดุประสานจากนั้นแบ่งคอนกรีตออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 คือคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากธรรมชาติ กลุ่มที่ 2 คือคอนกรีตที่ใช้ทรายแม่น้ำและมวลรวมหยาบจากการย่อยเศษคอนกรีต และกลุ่มที่ 3 คือ คอนกรีตที่ใช้มวลรวมละเอียดและมวลรวมหยาบจากเศษคอนกรีต ทำการทดสอบกำลังอัด ค่าสัมประสิทธิ์การซึมของน้ำผ่านคอนกรีต การแทรกซึมของอิออนคลอไรด์ และการหดตัวแบบแห้งของคอนกรีต
ผลการทดสอบ พบว่า การใช้เถ้าถ่านหินบดละเอียดแทนที่ปูนซีเมนต์บางส่วน สามารถช่วยพัฒนากำลังอัดของคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีตให้สูงขึ้น โดยเฉพาะคอนกรีตที่ใช้มวลรวมหยาบจากการย่อยเศษคอนกรีตสามารถพัฒนากำลังอัดให้มีค่าเทียบเท่าคอนกรีตควบคุมได้ที่อายุ 28 วัน เถ้าถ่านหินบดละเอียดสามารถช่วยลดค่าสัมประสิทธิ์การซึมของน้ำผ่านคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีตให้มีค่าต่ำกว่าคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีตที่ไม่ใช้เถ้าถ่านหินบดละเอียดประมาณ 2 เท่า และต่ำกว่าค่าสัมประสิทธิ์การซึมของน้ำผ่านคอนกรีตควบคุมประมาณ 1.5 เท่า นอกจากนี้การใช้เถ้าถ่านหินบดละเอียดเป็นวัสดุประสานส่งผลให้คอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีตมีความต้านทานการแทรกซึมของอิออนคลอไรด์ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ผลรทดลองยังได้แนะนำอัตราส่วนเถ้าถ่านหินบดละเอียดที่เหมาะสมที่ให้คุณสมบัติที่ดีทั้งด้านกำลังอัด การทึบน้ำ และความต้านทานการแทรกซึมของอิออนคลอไรด์ของคอนกรีต คือร้อยละ 35 โดยน้ำหนักวัสดุประสาน ส่วนการหดตัวแบบแห้งของคอนกรีตที่ใช้มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีตมีค่าลดลงตามอัตราส่วนการแทนที่ของเถ้าถ่านหินบดละเอียดที่เพิ่มขึ้น
คำสำคัญ : เถ้าถ่านหิน มวลรวมจากการย่อยเศษคอนกรีต กำลังอัด สัมประสิทธิ์การซึมของน้ำ
การแทรกซึมของอิออนคลอไรด์