รูปแบบการส่งเสริมเพื่อการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดชายแดนภาคใต้
Abstract
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) รูปแบบ ศักยภาพ และความพึงพอใจในระบบการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง 2) ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง 3) รูปแบบการส่งเสริมเพื่อการพึ่งพาตนเอง 4) ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเพื่อการพึ่งพาตนเอง 5) แนวทางการพัฒนายุทธศาสตร์ และโครงการในการสนับสนุนการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้วิธีวิจัย Mix Method ประชากรที่ศึกษา ได้แก่ 1) เกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ สัมภาษณ์และบันทึกการสังเกต จำนวน 132 ราย
2) ผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนยาง เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์เชิงลึก จำนวน 27 ราย 3) ผู้แทนที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนยางผู้ให้ประเด็นในการจัดเวทีประชุมและสัมมนากลุ่ม จำนวน 30 ราย วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติ F-test
ผลการวิจัยพบว่า 1) รูปแบบระบบการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง เป็นการทำฟาร์มสวนยางพาราร่วมกับการเกษตรอื่นๆ ใน 3 รูปแบบ ได้แก่ ทำฟาร์มสวนยางพาราร่วมกับการเกษตรแบบผสมผสาน ร่วมกับการปลูกพืช และร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ ในภาพรวมมีศักยภาพ และความพึงพอใจต่อระบบการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเองในมิติต่างๆ ในระดับปานกลาง 2) ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับระบบการผลิตเพื่อการพึ่งพาตนเอง โดยพิจารณาในมิติด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติ จิตใจ และสังคม พบว่ามีการปฏิบัติอย่างมีความเหมาะสม 3) รูปแบบระบบการส่งเสริมเพื่อการพึ่งพาตนเอง นอกจากใช้รูปแบบส่งเสริมการเกษตรโดยทั่วๆ ไปแล้ว ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ควรดำเนินการส่งเสริมหรือเพิ่มกิจกรรม ได้แก่ ส่งเสริมการเรียนรู้จากแปลงตัวอย่างในท้องถิ่น การรวบรวมผู้รู้ในภูมิสังคม การให้ความรู้และจัดเวทีสนทนาให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่งเสริมให้ครบวงจรและเชื่อมโยงเครือข่าย ส่งเสริมการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นสำหรับเยาวชน การให้เกษตรกรมีส่วนร่วมเรียนรู้ การให้ความสำคัญของระบบสวนยางกับการพึ่งพาตนเองทางจิตใจ ความมั่นคงทางอาหาร ความสำคัญต่อสุขภาพ และระบบนิเวศ ด้วยวิธีการส่งเสริมในระดับกลุ่มบุคคล มวลชน และบุคคล 4) ปัจจัยที่มีความเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเพื่อการพึ่งพาตนเอง ในด้านการสื่อสารพบว่า ผู้ทำหน้าที่ส่งเสริม ข้อมูลข่าวสาร สื่อหรือช่องทางการสื่อสาร และผู้รับการส่งเสริม อยู่ในระดับปานกลาง และการได้รับข่าวสารในระดับมากจากสื่อกลุ่ม ได้แก่ การฝึกอบรม การสาธิต และการประชุมกลุ่ม จากสื่อมวลชน ได้แก่ นิทรรศการ วิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง และจากสื่อบุคคล ได้แก่ เจ้าพนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง เพื่อนบ้าน และเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของกรมส่งเสริมการเกษตร 5) แนวทางในการสนับสนุนโดยพัฒนายุทธศาสตร์ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การสร้างความมั่นคงให้เกษตรกรชาวสวนยาง การส่งเสริมพัฒนาการจำหน่ายผลผลิต การส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา การส่งเสริมการทำสวนยางร่วมกับกิจกรรมเกษตรอื่นๆ และการพัฒนาคุณภาพชีวิต
คำสำคัญ : การส่งเสริมการเกษตร การพึ่งพาตนเอง เกษตรชาวสวนยาง จังหวัดชายแดนภาคใต้