ผลของการสัมผัสรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าจากฐานส่งสัญญาณย่อยโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Pico Cell) ต่อพฤติกรรมทางประสาทของพนักงานขายศูนย์การค้า
Main Article Content
Abstract
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจวัดปริมาณรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า ที่เกิดจากฐานส่งสัญญาณย่อยโทรศัพท์ เคลื่อนที่ (pico cell) และทดสอบพฤติกรรมทางประสาท (neurobehavior) ของพนักงานขายซึ่งสัมผัสรังสีฯ ในศูนย์การค้า เปรียบเทียบกับปริมาณรังสีฯ และพฤติกรรมทางประสาทของพนักงานขายในศูนย์การค้าที่ไม่มีการติดตั้ง pico cell การ ตรวจวัดปริมาณรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าทำโดยใช้เครื่องวัดปริมาณรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า (NARDA, EMR 300) วัดความหนาแน่น กำลัง(power density) ของรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า ณ จุดปฏิบัติงานของพนักงานขายในศูนย์การค้าที่มี pico cell (กลุ่มสัมผัส) 100 จุด และในศูนย์การค้าที่ไม่มี pico cell (กลุ่มไม่สัมผัส) 45 จุด พนักงานขายทั้ง 2 กลุ่มเข้าร่วมทดสอบพฤติกรรมทาง ประสาทโดยความสมัครใจ โดยใช้แบบทดสอบ Digit Span เพื่อทดสอบความจำระยะสั้นและสมาธิ แบบทดสอบ Digit Symbol สำหรับทดสอบการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตากับประสาทสั่งการ และแบบทดสอบ Trail Making A ในการ ทดสอบความเร็วในการจัดลำดับตัวเลข โดยกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มนี้ไม่มีความแตกต่างกันทางสถิติในด้านอายุ ระยะเวลา การทำงาน และระดับการศึกษา แต่กลุ่มสัมผัสมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่บ่อยกว่ากลุ่มไม่สัมผัสอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)
ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มสัมผัสจำนวน 100 คนได้รับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า ณ จุดปฏิบัติงานคิดเป็นค่ามัธยฐาน เท่ากับ 0.0014 Watt/m2 ส่วนกลุ่มไม่สัมผัสจำนวน 45 คนได้รับรังสีแม่เหล็กไฟฟ้า คิดเป็นค่ามัธยฐานเท่ากับ 0.0008 W/m2 ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) การทดสอบพฤติกรรมทางประสาทพบว่า กลุ่มสัมผัสมีคะแนน การทดสอบความจำระยะสั้นและสมาธิน้อยกว่ากลุ่มไม่สัมผัส และใช้เวลาในการจัดลำดับตัวเลขมากกว่ากลุ่มไม่สัมผัส อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p =0.002 และ <0.001 ตามลำดับ) แต่ผลการทดสอบการประสานสัมพันธ์ระหว่างสายตาและ ประสาทสั่งการไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า ฐานส่งสัญญาณย่อยภายในอาคารทำให้ ปริมาณรังสีแม่เหล็กไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และมีผลบั่นทอนความจำระยะสั้นและสมาธิของผู้ที่สัมผัสรังสีแม่เหล็ก- ไฟฟ้านั้น อย่างไรก็ดีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มศึกษาในเรื่องจำนวนครั้งของการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่อาจส่งอิทธิพลต่อ ผลการทดสอบพฤติกรรมทางประสาท ดังนั้นจึงควรทำการศึกษาเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าวและในกลุ่มประชากรอื่นๆ