ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความร่วมมือในการรับประทานยาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน
Abstract
วิจัยครั้งนี้เป็นการหาความสัมพันธ์เชิงทำนาย เพื่อศึกษาอิทธิพลของการรับรู้ความเจ็บป่วย และความเชื่อเกี่ยวกับยาต่อความร่วมมือในการรับประทานยาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงชนิดปฐมภูมิจำนวน 85 ราย ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่มาตรวจตามนัดที่หน่วยบริการปฐมภูมิ ณโรงพยาบาลระดับตติยภูมิแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานครคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวก เครื่องมือในการวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามวัดความคิดเห็นเกี่ยวกับความเจ็บป่วยฉบับย่อ แบบสอบถามวัดความเชื่อเกี่ยวกับยา แบบสอบถามวัดความร่วมมือในการรับประทานยา 8 ข้อของมอริสกี้ ซึ่งมีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) เท่ากับ 0.85, 0.71 และ 0.75 ตามลำดับ ข้อมูลที่ได้นำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติพรรณาและการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่าความร่วมมือในการรับประทานยาโดยรวมอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างต่ำ (mean = 5.92 , SD = 1.71) การวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณพบว่า ตัวแปรอิสระทั้งหมดสามารถอธิบายความผันแปรของความร่วมมือในการรับประทานยาของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อนได้ร้อยละ 17.2 (R2= .172, p < .01) โดยความวิตกกังวลเกี่ยวกับยาเป็นตัวแปรที่มีอิทธิพลต่อความร่วมมือในการรับประทานยามากที่สุด (β= -.374; p <.01) ดังนั้นพยาบาลควรประเมินพื้นฐานความเชื่อของผู้ป่วยที่มีต่อยา ก่อนการให้ความรู้เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในการรับประทานยาลดความดันในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน
คำสำคัญ: โรคความดันโลหิตสูงที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน ความร่วมมือในการรับประทานยา ความเชื่อเกี่ยวกับยา การรับรู้ความเจ็บป่วย