แนวทางการนำหลักศาสนบัญญัติอิสลามใช้ในการควบคุมการบริโภคยาสูบและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ในชุมชนมุสลิม อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส
Abstract
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาหลักศาสนบัญญัติอิสลามเกี่ยวกับการควบคุมการบริโภคยาสูบและการคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ โดยศึกษาบทบัญญัติแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮฺ วิเคราะห์ข้อมูลจากเอกสาร คำวินิจฉัยและความคิดเห็นของปวงปราชญ์มุสลิมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ตลอดจนการสอบถามผู้รู้และผู้นำทางศาสนาในชุมชนมุสลิม อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จำนวน 98 คน และนำผลการศึกษามาเปรียบเทียบกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายบ้านเมือง เพื่อกำหนดเป็นแนวทางในการนำหลักศาสนบัญญัติอิสลามใช้ในการควบคุมการบริโภคยาสูบและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่
ผลการวิจัยพบว่า บทบัญญัติแห่งอัลกุรอานและซุนนะฮฺมิได้ระบุเรื่องการบริโภคยาสูบไว้โดยเฉพาะ เพียงบัญญัติไว้เป็นหลักการทั่วไป ส่งผลให้บรรดานักปราชญ์มุสลิมมัซฮับ (สำนักคิดทางกฎหมายอิสลาม) ต่าง ๆ ต้องทำการวิเคราะห์วินิจฉัยบทบัญญัติดังกล่าวนั้นเพื่ออธิบายต่อกรณีการบริโภคยาสูบ สรุปได้เป็น 3 ทัศนะ คือ ทัศนะแรก มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งต้องห้าม (หะรอม) ทัศนะที่สอง มีความเห็นว่าเป็นสิ่งไม่สมควร (มักรูฮฺ) และทัศนะที่สาม มีความเห็นว่าเป็นสิ่งอนุมัติ (มุบาหฺ) เมื่อนำบทบัญญัติแห่งกฎหมายบ้านเมืองมาเปรียบเทียบกับศาสนบัญญัติอิสลามตามผลการวิเคราะห์วินิจฉัยของปวงปราชญ์ดังกล่าวพบว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายสอดคล้องกับศาสนบัญญัติอิสลามตามทัศนะที่สามซึ่งมีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งอนุมัติแต่เมื่อพิจารณาถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายแล้วพบว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่สอดคล้องกับศาสนบัญญัติอิสลามตามทัศนะที่สองที่มีความเห็นว่าการบริโภคยาสูบเป็นสิ่งที่ไม่สมควร (มักรูฮฺ) ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นของผู้รู้ และผู้นำทางศาสนาในเขตอำเภอเมืองจังหวัดนราธิวาสส่วนใหญ่ที่เห็นว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งไม่สมควร ผลจากการวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่าการรณรงค์เพื่อการควบคุมการบริโภคยาสูบและคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในชุมชนมุสลิมอำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส และชุมชนไทยมุสลิมอื่น ๆ นั้น ควรต้องคำนึงถึงความสอดคล้องระหว่างศาสนบัญญัติอิสลาม ข้อค้นพบทางวิชาการหรือการแพทย์และเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติของกฎหมาย ภายใต้กรอบความคิดเห็นของผู้รู้และผู้นำทางศาสนาเป็นสำคัญ
คำสำคัญ : หลักศาสนบัญญัติอิสลาม การบริโภคยาสูบ การคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่