ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลมชัก : การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ
Abstract
โรคลมชักเป็นการเจ็บป่วยเรื้อรังและเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ผู้ป่วยส่วนใหญ่ต้องกินยาตลอดชีวิตและเป็นภาระแก่สังคมและครอบครัว ขาดโอกาสที่จะศึกษาและประกอบอาชีพ และมักมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคลมชักมีโอกาสที่จะเกิดภาวะซึมเศร้าร่วมด้วย การทบทวนงานวิจัยอย่างเป็นระบบครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนองค์ความรู้เกี่ยวกับภาวะซึมเศร้า และปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลมชัก โดยการสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีการทบทวนวรรณกรรมแบบบูรณาการ (Integrative research review) เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่เป็นหลักฐานข้อมูลเชิงประจักษ์และนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลมชัก กลุ่มตัวอย่างคืองานวิทยานิพนธ์ในระดับมหาบัณฑิตและรายงานการวิจัยอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ระหว่างปี ค.ศ. 1990 -2011 ที่ทำการศึกษาเกี่ยวกับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลมชัก จำนวน 11 เรื่อง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเป็นแบบสรุปคุณลักษณะงานวิจัยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นจากการทบทวนวรรณกรรมผลการสังเคราะห์สรุปได้ดังนี้ 1. งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ส่วนใหญ่เป็นงานวิจัยที่ศึกษาถึงความสัมพันธ์ (ร้อยละ 90.91) และการทดลองเชิงสุ่มทางคลินิก (ร้อยละ 9.09) และ 2. ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าของผู้ป่วยโรคลมชักได้แก่ ความร่วมมือในการใช้ยา (r=0.257) การจัดการตนเอง (r=0.258) มีความสัมพันธ์ระดับเล็กน้อยกับภาวะซึมเศร้า ส่วนเพศ (r=0.360) การสนับสนุนทางสังคม (r=0.520) การรับรู้ตราบาป (r=0.425) และสมรรถนะแห่งตน (r=0.472) มีความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับภาวะซึมเศร้า
ข้อเสนอแนะ พยาบาลควรตระหนักและประเมินปัจจัยเสี่ยงของภาวะซึมเศร้า มีการคัดกรอง รวมทั้งประสานงานกับบุคลากรในทีมสุขภาพที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดูแลผู้ป่วยได้อย่างทันท่วงที เพื่อเป็นพื้นฐานในการให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคลมชักที่มีภาวะซึมเศร้าต่อไปในอนาคต
คำสำคัญ : โรคลมชัก ภาวะซึมเศร้า ปัจจัยคัดสรร การทบทวนวรรณกรรม
Downloads
Published
2012-10-02
How to Cite
ตาลเชื้อ ร., & จิตปัญญา ช. (2012). ปัจจัยที่สัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคลมชัก : การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ. Princess of Naradhiwas University Journal, 4(3). Retrieved from https://li01.tci-thaijo.org/index.php/pnujr/article/view/53740
Issue
Section
Research Articles