ความหลากหลายของแมลงชีปะขาว แมลงสโตนฟลาย และแมลงหนอนปลอกน้ำ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัดนราธิวาส
Keywords:
แมลงชีปะขาว, แมลงสโตนฟลาย, แมลงหนอนปลอกน้ำ, เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลาAbstract
การศึกษาความหลากหลายของตัวอ่อนแมลงชีปะขาว (อันดับ Ephemeroptera) แมลงสโตนฟลาย (อันดับ Plecoptera) และแมลงหนอนปลอกน้ำ (อันดับ Trichoptera) หรือแมลงน้ำกลุ่ม EPT ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าฮาลา-บาลา จังหวัด
นราธิวาส เก็บตัวอย่างเชิงคุณภาพจากลำธารต้นน้ำ 4 ลำธาร ในเดือนพฤษภาคม มิถุนายน และกันยายน 2558 ผลการศึกษาพบ 6,574 ตัว 39 สกุล 23 วงศ์ แมลงหนอนปลอกน้ำมีความหลากหลายมากที่สุดพบ 22 สกุล 13 วงศ์ (ร้อยละ 56.41) รองลง
มาคือ แมลงชีปะขาวพบ 11 สกุล 7 วงศ์ (ร้อยละ 28.21) และแมลงสโตนฟลาย พบ 6 สกุล 3 วงศ์ (ร้อยละ 15.38) ตามลำดับ น้ำตกสายรุ้งพบความหลากหลายของแมลงน้ำกลุ่ม EPT 27 สกุล รองลงมาคือ น้ำตกสิรินธร (22 สกุล) น้ำตกศรีทักษิณ
(22 สกุล) และน้ำตกบาเล๊ะ (18 สกุล) ในการศึกษาครั้งนี้แมลงหนอนปลอกน้ำวงศ์ Hydropsychidae มีความหลากหลายมากที่สุด พบ 9 สกุล Stenopsyche (Stenopsychidae) เป็นสกุลเด่นที่พบในน้ำตกสายรุ้งและน้ำตกสิรินธร มีความชุกชุม 1,521 ตัว
(ร้อยละ 23.14) แมลงชีปะขาว สกุล Thalerosphyrus (Heptageniidae) และแมลงหนอนปลอกน้ำ สกุล Chimara (Philopotamidae) พบได้ทั่วไปและมีการกระจายตัวกว้าง ส่วนแมลงที่มีการกระจายตัวแคบและพบจำนวนตัวน้อย ได้แก่ แมลงชีปะขาว
สกุล Caenis และ Rhithrogena แมลงสโตนฟลาย สกุล Phanoperla แมลงหนอนปลอกน้ำ สกุล Oestropsyche, Pseudoleptonema, Limnocentropus, Goera และ Anisocentropus การวิเคราะห์การแบ่งกลุ่มสถานีด้วย cluster analysis สามารถแบ่งสถานี
ที่ศึกษาได้ 4 กลุ่มและการวิเคราะห์การจัดอันดับ ordination analysis ด้วยวิธี NMS พบว่าค่าปัจจัยทางกายภาพและเคมีบางประการของน้ำ ได้แก่ ความเร็วกระแสน้ำ ของแข็งรวมละลายน้ำ การนำกระแสไฟฟ้า ความเป็นกรด-ด่าง อุณหภูมิน้ำ ความลึก
และความกว้างของลำธารมีผลต่อการกระจายตัวของแมลงน้ำกลุ่ม EPT