จริยธรรมในการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารวิชาการ

บทบาทและหน้าที่ของบรรณาธิการ (Editor)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของเรื่องก่อนการตีพิมพ์ โดยต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขต (Aim and Scope) ที่วารสารกำหนดไว้
  2. บรรณาธิการต้องพิจารณาคุณภาพของเรื่องที่ส่งมาลงตีพิมพ์ในวารสารอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานขององค์ความรู้ที่ถูกต้อง มีประโยชน์ต่อส่วนรวม ทันสมัย และปราศจากอคติที่มีต่อเรื่องที่ส่งมา
  3. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน/ส่วนได้ส่วนเสียกับผู้เขียน ผู้ประเมิน และบุคคลใดๆที่เกี่ยวข้อง
  4. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนและผู้ประเมินแก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาของการประเมิน รวมทั้งต้องปกป้องข้อมูลใดๆในเรื่องนั้นๆ ยกเว้นกรณีที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของผลงานที่เป็นลายลักษณ์อักษร
  5. บรรณาธิการต้องตรวจสอบเรื่องที่ส่งมาลงตีพิมพ์ในประเด็นการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) หากตรวจพบว่าผู้เขียนมีการคัดลอกผลงานผู้อื่นหรือมีการปลอมแปลงข้อมูล บรรณาธิการสามารถขอคำชี้แจงจากผู้เขียน เพื่อประกอบการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์ หากไม่มีเหตุผลอันควรบรรณาธิการสามารถดำเนินการปฏิเสธได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน
  6. บรรณาธิการต้องชี้แจงผลการประเมินแก่ผู้เขียนโดยใช้หลักเหตุผล และเปิดโอกาสให้ผู้เขียนได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับผลการประเมินของบรรณาธิการ
  7. บรรณาธิการต้องเป็นกัลยาณมิตรกับผู้เขียน มีความเมตตา ยืดหยุ่น และตรงต่อเวลา รวมทั้งช่วยให้ผู้เขียนได้เรียนรู้และมีเจตคติทางบวกต่อการลงตีพิมพ์
  8. บรรณาธิการสามารถตรวจสอบความถูกต้อง หรือปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำในเรื่องที่ส่งมา โดยคำนึงถึงความถูกต้องและคุณภาพเป็นสำคัญ
  9. บรรณาธิการต้องรักษามาตรฐานจริยธรรมในการพิจารณาเรื่องที่ส่งเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสาร และมีการพัฒนาคุณภาพวารสารอย่างต่อเนื่อง

 

บทบาทและหน้าที่ของผู้ประเมิน (Reviewer)

วารสารแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อประเมินเรื่องที่ส่งตีพิมพ์จำนวน 3 ท่านต่อ 1 เรื่อง โดยเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาที่เกี่ยวข้อง และเป็นการพิจารณาแบบ Double-blind review บทบาทหน้าที่ของผู้ทรงคุณวุฒิต่อการประเมินบทความมีดังต่อไปนี้

  1. ผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่ช่วยเหลือบรรณาธิการในการตัดสินว่าควรตีพิมพ์หรือไม่
  2. ผู้ทรงคุณวุฒิมีหน้าที่ช่วยเหลือผู้เขียนเพื่อพัฒนาคุณภาพเรื่องที่ส่งตีพิมพ์
  3. หากผู้ประเมินตระหนักว่าตนเองอาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งทำให้ไม่สามารถประเมินได้อย่างอิสระ ผู้ประเมินควรแจ้งบรรณาธิการ และปฏิเสธการประเมินเรื่องที่ส่งตีพิมพ์นั้น
  4. ผู้ประเมินควรตอบรับการประเมินเรื่องที่ส่งตีพิมพ์ในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญ
  5. ผู้ประเมินสามารถระบุให้ผู้ส่งผลงานเพิ่มข้อมูลสำคัญและสอดคล้องเข้าไปในบทความที่กำลังประเมิน หากผู้เขียนไม่ได้กล่าวถึงข้อมูลนั้น ๆ
  6. ผู้ประเมินต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของเรื่องที่ส่งตีพิมพ์แก่บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง ในช่วงเวลาของการประเมิน

 

บทบาทหน้าที่ของผู้เขียนบทความ (Author)

  1. ผู้เขียนต้องตรวจสอบวัตถุประสงค์และขอบเขตผลงานที่วารสารเปิดรับเป็นอย่างดีแล้ว
  2. ผู้เขียนต้องศึกษารายละเอียดคำแนะนำสำหรับผู้เขียน และเขียนงานตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
  3. ผู้เขียนต้องรับทราบเป็นกติกาว่าเรื่องที่ส่งมาเพื่อรับการพิจารณาตีพิมพ์เป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน ไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาในวารสารอื่นใด
  4. ผู้เขียนต้องต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น เสนอข้อมูลอันเกิดจากการทำวิจัยด้วยความเป็นจริง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ
  5. ผู้เขียนต้องมีการอ้างอิงทุกครั้งเมื่อนำข้อมูลใดๆของผู้อื่นมาอ้างอิงในเนื้อหาของตนเอง (In-text Citation) และทำรายการอ้างอิงท้ายเรื่อง (Reference) ตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
  6. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในเรื่องทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการจริง
  7. ผู้เขียนบทความยินดีแก้ไขปรับปรุงเรื่องที่ส่งมาให้ถูกต้องและเหมาะสมตามข้อเสนอแนะเบื้องต้นจากกองบรรณาธิการฯ และหลังการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิ ทั้งนี้การอนุมัติให้ลงตีพิมพ์ขึ้นอยู่กับการพิจารณาจากกองบรรณาธิการวารสารฯ ถือเป็นที่สิ้นสุด