การพัฒนาการทำนาข้าวอินทรีย์ ชุมชนตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
Abstract
บทนำ
คนไทยมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับข้าวมาช้านาน จนก่อเกิดเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมข้าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเป็นอาหารเพื่อการยังชีพ นอกจากนี้ข้าวยังจัดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจที่มีความสำคัญต่อการสร้างรายได้ให้แก่ประเทศไทยอีกด้วย โดยจากการรายงานข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติปี 2550 (พิมพิดา โยธาสมุทร, 2552) ระบุว่า ประเทศไทยส่งออกข้าวมากที่สุดของโลก โดยคิดเป็นจำนวนกว่า 8 ล้านตัน ซึ่งคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์ของตลาดข้าวส่งออกทั่วโลก จากแนวโน้มความต้องการข้าวในตลาดโลกที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ผนวกกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการเกษตร กษตเรื่อยๆ ษตรและเทคโนโลยีึ้น ่งออกข้าวเป็นอันดับต้นๆของโลก ส่งผลให้ระบบการผลิตข้าวของไทยเปลี่ยนแปลงไปสู่การผลิตข้าวเพื่อการค้ามากยิ่งขึ้น โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตข้าวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น การใช้ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช และฮอร์โมนพืชสังเคราะห์ เป็นต้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาดินเสื่อมความอุดมสมบูรณ์ ปัญหาการระบาดของโรคและแมลง การสูญเสียความหลากหลายของทางชีวภาพในแปลงเกษตร ปัญหาสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม ปัญหาปุ๋ยและสารเคมีราคาแพงทำให้เกิดการลงทุนสูง ในขณะที่ราคาผลผลิตไม่ได้สูงขึ้นตามสัดส่วนของต้นทุนที่สูงขึ้นทำให้เกษตรขาดทุนและมีหนี้สิน เพราะต้องพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกเพื่อนำมาเพิ่มผลผลิต รวมทั้งก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภคเนื่องจากสารพิษตกค้างในผลิตผลทางการเกษตรและสิ่งแวดล้อม
จากการศึกษาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวพบว่า เกษตรอินทรีย์นับได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่สามารถนำมาใช้แก้ปัญหาจากการทำเกษตรเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นระบบการผลิตทางการเกษตรที่หลีกเลี่ยงการใช้สารสังเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็น ปุ๋ยเคมี สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและฮอร์โมนต่างๆ แต่เน้นมุ่งเน้นไปที่การใช้อินทรียวัตถุ เช่น ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสดและปุ๋ยชีวภาพในการบำรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ส่งเสริมการปลูกพืชหมุนเวียนหรือใช้อินทรีย์วัตถุต่างๆปกคลุมหน้าดินอยู่เสมอ สร้างความหลากหลายที่สัมพันธ์กันอย่างสมดุลในระบบนิเวศโดยการปลูกพืชร่วมกันหลายชนิด ซึ่งนับเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพและยังเป็นการลดความเสี่ยงจากปัญหาโรคและแมลงศัตรูพืชระบาด รวมถึงเน้นให้ศัตรูธรรมชาติควบคุมศัตรูพืชเองโดยไม่ใช้สารเคมีซึ่งเป็นการสร้างสมดุลในระบบนิเวศทางการเกษตรอีกวิธีหนึ่ง ซึ่งแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากเกษตรเคมีโดยใช้เกษตรอินทรีย์นี้ สอดคล้องกับแนวคิดของรัฐบาลที่กำหนดไว้ในนโยบายการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2551 ในด้านการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหารโดยส่งเสริมการทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริ รวมถึงขยายกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาเกษตรทฤษฎีใหม่และสนับสนุนการทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน วนเกษตร ที่สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนเพื่อลดการใช้สารเคมีและเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร สอดคล้องและสนับสนุนตามแนวเศรษฐกิจแบบพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งเป็นปรัชญาแนวทางปฏิบัติตนในการดำรงชีวิตของประชาชนทุกระดับ ให้มีความพอเพียง ซึ่งหมายถึง “ความพอประมาณ ความมีเหตุผล มีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี” แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง ในการดำเนินชีวิตของตนเอง และครอบครัวให้มีความพออยู่พอกิน มีรายได้ ลดรายจ่าย และมีการเก็บออมไว้ใช้เมื่อยามจำเป็น
ชุมชนตำบลโคกโคเฒ่า ตั้งอยู่ในท้องที่อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพืชที่นิยมปลูกและทำรายได้มากที่สุดคือ ข้าว ไม้ผล รวมถึงพืชไร่ ตามลำดับ เกษตรกรชุมชนตำบลโคกโคเฒ่าส่วนใหญ่นิยมทำการเกษตรเคมีโดยพึ่งพาปัจจัยจากภายนอก ได้แก่ ปุ๋ย สารเคมี ยาปราบศัตรูพืชต่างๆ ส่งผลให้เกษตรกรมีหนี้สินเนื่องจากไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างแท้จริง นอกจากนี้การทำเกษตรเคมีดังกล่าวยังก่อให้เกิดผลเสียต่อดินและสิ่งแวดล้อมในชุมชนอีกด้วย จากเหตุผลดังกล่าว คณะผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะทำการพัฒนาการทำนาข้าวโดยใช้วิถีเกษตรอินทรีย์ ของชุมชนตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำเอาหลักการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) มาใช้ในการดำเนินการวิจัย ซึ่งเป็นรูปแบบของการวิจัยแบบมีส่วนร่วมโดยการร่วมมือของชุมชนประกอบด้วยขั้นตอน 4 ขั้นตอนดังนี้ (สุวิมล ว่องวานิช, 2544)
1. ขั้นการวางแผน (Planning) ดำเนินการเปิดเวทีเพื่อให้เกษตรกรแต่ละคนได้แสดงความคิดเห็น โดยร่วมกันอภิปรายถึงการที่จะพัฒนาการทำนาข้าวอินทรีย์หรือแก้ปัญหาที่พบและ ร่วมกันกำหนดกลยุทธ์ที่จะใช้ในการพัฒนาเกษตรกรชุมชนตำบลโคกโคเฒ่า ด้านการทำนาข้าว 4 กลยุทธ์ คือ 1) การศึกษาดูงาน 2) การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้าน การปลูกข้าว การจัดการดินและน้ำ การป้องกันและจำกัดศัตรูพืช การเก็บเกี่ยวและการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว3) การมอบหมายงาน โดยการให้เกษตรกรนำความรู้ที่ได้จากการอบรมเชิงปฏิบัติการ ไปปฏิบัติในแปลงสาธิตการทำนาข้าวอินทรีย์ของชุมชน จำนวน 1 ไร่ และ 4) การนิเทศติดตาม เพื่อเป็นการกำกับ ติดตามและให้คำปรึกษาด้านการปฏิบัติการทำนาข้าวอินทรีย์แก่กลุ่มผู้ร่วมวิจัยทั้งรายกลุ่มและรายบุคคล
2. ขั้นการปฏิบัติการ (Action) ดำเนินการจัดกิจกรรมตามกลยุทธ์ทั้ง 4 กลยุทธ์ที่ได้วางแผนร่วมกันในการพัฒนาการทำนาข้าวอินทรีย์ชุมชนตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี
3. การสังเกต (Observation) ดำเนินการสังเกตควบคู่ไปกับขั้นตอนในการกิจกรรมตามกลยุทธ์ทั้ง 4 กลยุทธ์ โดยใช้แบบสังเกต แบบสอบถาม และแบบประเมิน ร่วมกับการสนทนากลุ่มย่อย (Focus group)
4. การสะท้อนผล (Reflection) หลังจากการดำเนินตามกลยุทธ์ทั้ง 4 กลยุทธ์ดำเนินการเปิดเวทีเพื่อสะท้อนข้อมูลที่ได้แก่เกษตรกรเพื่อรับทราบผลการดำเนินกิจกรรม ปัญหาอุปสรรค และแนวทางการพัฒนาต่อไป