ลักษณะภูมิสัณฐานและรูปแบบการระบายน้ำในบริเวณแผ่นดินไหว ลุ่มน้ำสาขาแม่พุง และลุ่มน้ำสาขาแม่ลาว จังหวัดเชียงราย

Main Article Content

รังสรรค์ เกตุอ๊อต

บทคัดย่อ

การวิเคราะห์ลักษณะภูมิสัณฐานและรูปแบบการระบายน้ำในบริเวณแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2557 ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนบนของลุ่มน้ำสาขาแม่พุง และมีพื้นที่ต่อเนื่องกับตอนล่างของลุ่มน้ำสาขาแม่ลาว จังหวัดเชียงราย โดยใช้ทฤษฎีภูมิสัณฐานวิทยาร่วมกับระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์โปรแกรม ArcGIS 9.3 พบว่า ลักษณะภูมิประเทศมีความลาดเทจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ โครงสร้างทางธรณีวิทยาเป็นหินทราย หินปูน หินดินดาน และหินโคลน วางตัวในแนวระนาบและมีความลาดเทน้อย ทับถมด้านบนด้วยตะกอนธารน้ำพา กรวด ทราย ทรายแป้ง และดินเหนียว มีรูปแบบการระบายน้ำเป็นแบบกิ่งไม้ที่มีความหยาบ-ละเอียดของลำน้ำปานกลาง (medium dendritic drainage pattern) และแบบกิ่งไม้ที่มีความหยาบ-ละเอียดของลำน้ำปานกลางถึงละเอียดมาก (medium to fine dendritic drainage pattern) ส่งผลให้ทางน้ำไหลได้อย่างอิสระไม่มีทิศทางที่แน่นอน ลำน้ำสำคัญ ได้แก่ น้ำแม่ลาว น้ำแม่คาว น้ำร่องธาร และน้ำแม่ปอน สำหรับบริเวณที่มีรอยเลื่อนย่อยขนาดเล็ก (fault segment) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มรอยเลื่อนพะเยาตอนเหนือ (Northern Phayao fault zone) มีรูปแบบการระบายน้ำเป็นแบบตั้งฉาก (rectangular drainage pattern) ตามทิศทางของรอยเลื่อนที่ปรากฏในพื้นที่ โดยมักพบในอันดับลำน้ำที่ 1 และพบว่าผลกระทบจากแผ่นดินไหวไม่ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการระบายน้ำในพื้นที่

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ