ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเหมาะสมของการกระจายต้นเสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi Powell) ในประเทศไทย

Main Article Content

จันทิมา อยู่ถาวร
ยงยุทธ ไตรสุรัตน์
วัฒนชัย ตาเสน
อัชฎา ชิตโชติ

บทคัดย่อ

การศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเหมาะสมของการกระจายต้นเสม็ดขาว (Melaleuca cajuputi Powell) ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านนิเวศกับการปรากฏของต้นเสม็ดขาว และประเมินพื้นที่เหมาะสมต่อการกระจายของต้นเสม็ดขาวทั้งประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลจุดปรากฏของพรรณไม้แห้งจาก สำนักหอพรรณไม้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ฐานข้อมูลพรรณไม้ องค์การสวนพฤกษศาสตร์ BIEN (botanical information and ecology network) และจุดปรากฏจากการสำรวจ วิเคราะห์ร่วมกับปัจจัยด้านนิเวศ ด้วยแบบจำลอง Maximum Entropy (MaxEnt) ในการสร้างแผนที่การกระจาย


ผลการศึกษาพบว่าพื้นที่เหมาะสมต่อการกระจายของต้นเสม็ดขาวปัจจัยที่มีอิทธิพลสำคัญ 5 ปัจจัย ได้แก่ 1) ความสูงเหนือระดับน้ำทะเล (41.5%) 2) ระยะห่างจากทะเล (15.8%) 3) ความชื้นสัมพัทธ์ (15.1%) 4) กลุ่มชุดดิน (5%) 5) ปริมาณน้ำฝนรายปี (4.8%) โดยแบบจำลอง MaxEnt มีค่า AUC เท่ากับ 0.98 หมายถึง แบบจำลองมีความน่าเชื่อถือสูง และให้ค่าความถูกต้องแผนที่ เท่ากับ ร้อยละ 84


พื้นที่ที่มีปัจจัยสิ่งแวดล้อมเหมาะสมต่อการกระจายของต้นเสม็ดขาวในประเทศไทย มีขอบเขตการกระจาย 13,451 ตารางกิโลเมตร ใน 24 จังหวัด (ร้อยละ 2.64 ของพื้นที่ประเทศ) ปรากฏทางภาคใต้ฝั่งตะวันออก 9,012 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 67 ของพื้นที่เหมาะสมต่อการกระจาย) ภาคตะวันออก 2,360 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 17.55) ภาคใต้ฝั่งตะวันตก 1,984 ตารางกิโลเมตร (ร้อยละ 14.75) และพื้นที่อื่น ๆ 95 ตารางกิโลเมตร จังหวัดที่พบพื้นที่เหมาะสมต่อการกระจายของต้นเสม็ดขาวมากที่สุด คือ จังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 2,206 ตารางกิโลเมตร และสถานภาพการอนุรักษ์เสม็ดขาวอยู่ในเกณฑ์ มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์เนื่องจากมีขอบเขตการกระจายน้อยกว่า 20,000 ตารางกิโลเมตร


 


 

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ