การใช้ประโยชน์และการจัดการทรัพยากรป่าไม้ของประชาชนท้องถิ่น: กรณีศึกษา พื้นที่ป่าอนุรักษ์แห่งชาติน้ำแอด-ภูเลย จังหวัดหัวพัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Main Article Content

สมศักดิ์ จันทร์มาลี
วิพักตร์ จินตนา

บทคัดย่อ

การวิจัยการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ของประชาชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่ในป่าอนุรักษ์แห่งชาติน้ำแอด-ภูเลย จังหวัดหัวพัน ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว โดยการสัมภาษณ์หัวหน้าครัวเรือนจำนวน 168 ราย ด้วยแบบสัมภาษณ์ ประมวลผลข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ ค่าสถิติที่ใช้ ประกอบด้วย ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และไคสแควร์ กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05


ผลการวิจัยกลุ่มตัวอย่างซึ่งมีลักษณะทางเศรษฐกิจสังคมที่หลากกลาย อายุเฉลี่ย 40 ปี กว่าครึ่งจบการศึกษาต่ำกว่าระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย บางคนไม่ได้เรียนหนังสือ เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 99.4) เคยเข้าอบรมเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ และมีความรู้ความเข้าใจด้านการอนุรักษ์ค่อนข้างมาก (คะแนนเฉลี่ย 0.86) แต่ในด้านกฎหมายป่าไม้มีน้อย (คะแนนเฉลี่ย 0.28) สมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 7 คน เป็นวัยแรงงาน 4 คน มีที่ดินเฉลี่ย 16 ไร่ อาชีพหลักทำเกษตร รายได้ครัวเรือนเฉลี่ย 34,254 บาทต่อปี รายจ่ายครัวเรือนเฉลี่ย 22,836 บาทต่อปี พบว่า ผู้ให้สัมภาษณ์ทั้งหมดตอบว่าครัวเรือนของตนเก็บหาผลผลิตจากป่าเพื่อใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพ โดยส่วนใหญ่เก็บเพื่อใช้อุปโภคบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก ได้แก่ ไม้ฟืนสำหรับใช้หุงต้มและให้ความอบอุ่น ไผ่สำหรับประโยชน์ทั่วไป หน่อไม้ พืชผักป่า ผลไม้ป่า สัตว์ป่า แมลงกินได้ และเห็ด สำหรับเป็นอาหาร และพืชสมุนไพรสำหรับทำยารักษาโรค ยกเว้นบางประเภทที่เก็บเพื่อจำหน่าย ได้แก่ ดอกแขม และกล้วยไม้ป่า ร้อยละ 80 ของผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าครัวเรือนของตนใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าดังกล่าวเกือบทุกประเภท ยกเว้น แมลงกินได้และพืชสมุนไพรที่มีสัดส่วนผู้ใช้น้อยกว่า ปริมาณผลผลิตจากป่าที่ใช้แตกต่างกันออกไปในแต่ละครัวเรือน ค่าเฉลี่ยของการใช้ไม้ฟืน 11 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ไผ่ 78 ลำต่อปี ดอกแขม กล้วยไม้ป่า เห็ด หน่อไม้ พืชผักป่า ผลไม้ป่า สัตว์ป่า แมลงกินได้ และพืชสมุนไพร เท่ากับ 100  56  47  74  51  39  89  22 และ 8 กิโลกรัมต่อปี ตามลำดับ ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการใช้ประโยชน์ผลผลิตจากป่าหลากหลายประเภทมากที่สุด ได้แก่ การศึกษา จำนวนสมาชิก และจำนวนแรงงานในครัวเรือน ส่วนอาชีพมีผลต่อการใช้ประโยชน์จากกล้วยไม้ป่า และความรู้ด้านการอนุรักษ์มีผลต่อการใช้ประโยชน์จากแมลงกินได้


จากการศึกษายังพบว่า การเก็บหาผลผลิตจากป่าของกลุ่มตัวอย่างไม่มีรูปแบบการจัดการที่ชัดเจน ส่วนใหญ่ระบุว่าเป็นการเก็บหาตามภูมิปัญญาประเพณีท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาจากรุ่นก่อนๆ มีผลผลิตจากป่าบางชนิดที่มีการควบคุมการใช้โดยกฎระเบียบของชุมชน ได้แก่ ดอกแขม เห็ด และสัตว์ป่า ส่วนผลผลิตที่มีกฎหมายควบคุม คือ กล้วยไม้ป่า ประเมินจากสถานการณ์ปัจจุบันที่มุมมองของประชาชนท้องถิ่นต่อการทำไร่เลื่อนลอย การขยายพื้นที่เพาะปลูกและมีส่วนทำให้เกิดไฟป่า ทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ศึกษามีแนวโน้มถูกทำลายลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้วิจัยมีความเห็นว่าเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจในด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของประชาชนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความรู้เพิ่มเติมและทำความเข้าใจกับประชาชนที่เข้าไปเก็บหาของป่า ไม่ให้มีการตัดไม้ทำลายป่าหรือเผาป่า ที่เป็นแหล่งผลิตที่จำเป็นของชุมชน และควรชี้แจงทำความเข้าใจให้กับประชาชนได้ทราบว่าการทำไร่เลื่อนลอยโดยบุกรุกและแผ้วถางป่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายป่าไม้


 


คำสำคัญ: ผลผลิตจากป่า การใช้ประโยชน์ การจัดการ ประชาชนท้องถิ่น สปป.ลาว

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ