การออกแบบโปรแกรมการสื่อความหมายธรรมชาติบริเวณเส้นทางเดินป่าระยะไกล ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

Main Article Content

เอกชัย พรหมแสง
นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์
แสงสรรค์ ภูมิสถาน
ฉัตรชัย เงินแสงสรวย

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินศักยภาพทรัพยากรนันทนาการทางธรรมชาติ และเพื่อออกแบบโปรแกรมการสื่อความหมายบนพื้นฐานของทรัพยากรกล้วยไม้ป่า ในบริเวณเส้นทางเดินป่าระยะไกลโหล่นแต้ โดยมีระยะทาง 12.60 กิโลเมตร ดำเนินการศึกษาตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 ถึงกันยายน พ.ศ. 2555 โดยการประเมินศักยภาพทรัพยากรนันทนาการ ได้กำหนดตัวชี้วัด 11 ตัวชี้วัดเพื่อนำไปประเมินศักยภาพของเส้นทางโดยใช้สมการถ่วงน้ำหนัก (weighing score equation) ผลการประเมินศักยภาพพบว่า เส้นทางเดินป่าระยะไกลโหล่นแต้ มีศักยภาพอยู่ในระดับสูง (high potential) โดยปัจจัยที่ได้ค่าคะแนนสูงสุด คือ ความมีเอกลักษณ์โดดเด่นของฐานทรัพยากรบริเวณเส้นทาง ความโดดเด่นของสังคมพืช ความยากง่ายของเส้นทางในการประกอบกิจกรรมคุณภาพด้านทัศนียภาพของภูมิทัศน์ นัยสำคัญต่อการสื่อความหมายธรรมชาติ ความเหมาะสมของทรัพยากรต่อการประกอบกิจกรรมนันทนาการ และภูมิอากาศที่เหมาะสมต่อการประกอบกิจกรรม การออกแบบโปรแกรมสื่อความหมายธรรมชาติ ได้พิจารณาจากข้อมูลศักยภาพทรัพยากรนันทนาการร่วมกับการวิเคราะห์ปัจจัยทางชีวภาพและกายภาพ ที่มีศักยภาพในการสื่อความหมาย ได้แก่ ความหลากหลายและชีพลักษณ์ของกล้วยไม้ป่า สภาพสังคมพืช และสภาพความลาดชันของเส้นทาง เพื่อกำหนดเค้าโครงเรื่อง (theme) ในการสื่อความหมายธรรมชาติ จากการศึกษาได้กำหนดเค้าโครงเรื่องจำนวน 3 หัวข้อ คือ 1) ความหลากหลายของสังคมพืชในเส้นทางเดินป่าระยะไกลโหล่นแต้ 2) ชีพลักษณ์และความสำคัญของกล้วยไม้ป่า และ 3) ช่วงเวลาการออกดอกของกล้วยไม้ป่าตามลำดับและรูปแบบโปรแกรมการสื่อความหมายที่เหมาะสมคือ การจัดทำคู่มือศึกษาธรรมชาติ เพื่อลดผลกระทบจากสิ่งก่อสร้างในการสื่อความหมายธรรมชาติ เพื่อให้ทรัพยากรกล้วยไม้คงอยู่อย่างยั่งยืน


 


คำสำคัญ: การสื่อความหมายธรรมชาติ กล้วยไม้ป่า เส้นทางเดินป่าระยะไกลเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ