การประเมินสภาพป่าและศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนของป่าเสม็ดในเขตป่าชุมชน พื้นที่ป่าทุ่งบางนกออกแห่งลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาตอนล่าง

Main Article Content

สวรินทร์ เบ็ญเด็มอะหลี

บทคัดย่อ

การศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจเพื่อประเมินสภาพป่าเสม็ดและปริมาณการเก็บกักคาร์บอนของต้นเสม็ดขาว (Melaleucacajuputi) ในป่าชุมชนเขตพื้นที่ป่าทุ่งบางนกออก ตำบลควนโส อำเภอควนเนียง จังหวัดสงขลา โดยมีพื้นที่ศึกษาคือ ป่าชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านสวน และหมู่ที่ 11 บ้านบ่อหว้า ซึ่งผลการศึกษาพบว่า ป่าทุ่งบางนกออกมีพันธุ์ไม้เด่นคือ ต้นเสม็ดขาว และป่าชุมชนทั้งสองหมู่บ้านนี้มีสภาพป่าที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ป่าชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านสวนจะมีความหนาแน่นของต้นเสม็ดเท่ากับ 200 ต้นต่อไร่ และต้นเสม็ดขาวมีหลายชั้นความโตโดยมีตั้งแต่ต้นที่มีเส้นรอบวงน้อยกว่า 30 เซนติเมตรจนถึง 91-120 เซนติเมตร ขณะที่ป่าชุมชนหมู่ที่ 11 บ้านบ่อหว้า มีความหนาแน่นของต้นเสม็ดขาวเท่ากับ 176 ต้นต่อไร่ โดยต้นเสม็ดขาวส่วนใหญ่มีเส้นรอบวงของลำต้นอยู่ในช่วง 30-60 เซนติเมตร รองลงมามีเส้นรอบวงของลำต้นน้อยกว่า 30 เซนติเมตร ส่วนต้นที่มีเส้นรอบวง 61-90 เซนติเมตร มีเบาบาง ดังนั้นศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนของป่าชุมชนจึงมีความแตกต่างกัน โดยป่าชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านสวนซึ่งมีสภาพที่สมบูรณ์กว่านั้นจะมีศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนสูงกว่าป่าชุมชนหมู่ที่ 11 บ้านบ่อหว้า กล่าวคือ ป่าชุมชนหมู่ที่ 8 บ้านสวน มีปริมาณคาร์บอน 62.64  ตันคาร์บอนต่อไร่ ขณะที่ป่าชุมชนของหมู่ที่ 11 บ้านบ่อหว้า มีปริมาณคาร์บอน เท่ากับ 10.75 ตันคาร์บอนต่อไร่ และเห็นได้ว่าความสมบูรณ์ของป่าและขนาดของต้นเสม็ดขาวมีความสัมพันธ์กับศักยภาพในการเก็บกักคาร์บอนของป่าซึ่งมีความเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนทั้งในแง่เศรษฐกิจชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อมเพราะป่าที่สมบูรณ์ย่อมมีความหลากหลายทางชีวภาพที่ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากป่าได้อย่างหลากหลาย ขณะเดียวกันป่าก็เปรียบเสมือนปอดของชุมชนที่คอยฟอกอากาศบริสุทธิ์ และยังเป็นพื้นที่กันชนในการป้องกันภัยพิบัติธรรมชาติอีกด้วย


 


คำสำคัญ: การเก็บกักคาร์บอน ต้นเสม็ดขาว ป่าชุมชน ป่าทุ่งบางนกออก ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ