การติดตามละมั่ง และเนื้อทรายที่ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จังหวัดพะเยา

Main Article Content

รองลาภ สุขมาสรวง
นริศ ภูมิภาคพันธ์
วรวิทย์ วัชชวัลคุ
มาโนชญ์ ยินดี
กฤตภาส ขันทะธงสกุลดี
วราฤทธิ์ ไชยสาร
วินิจ ภู่เนาวรัตน์
พเยาว์ สายดี

บทคัดย่อ

การฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าเป็นเป้าหมายหนึ่งของการจัดการสัตว์ป่าเพื่อสังคม การติดตามศึกษาลักษณะทางประชากรของละมั่งและเนื้อทราย ที่ปล่อยสู่ธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ จังหวัดพะเยา ที่เริ่มปล่อยระหว่างปี พ.ศ. 2542 ถึง พ.ศ. 2551 จากประชากรตั้งต้นรวม 25 ตัว และ 78 ตัวตามลำดับ ได้ดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2553 จนถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 ด้วยการใช้กล้องดักถ่ายภาพ 3 ชุด รวมระยะเวลาที่กล้องทำงานรวม 65 วัน ได้จำนวนภาพทั้งหมด 2,592 ภาพ สามารถบันทึกภาพละมั่ง ได้จำนวน 128 ภาพ เนื้อทรายจำนวน 927 ภาพ  เลือกนำข้อมูลภาพที่สามารถจำแนกความแตกต่างของละมั่งและเนื้อทราย โดยสังเกตจากปลอกคอวิทยุ เพศ ชั้นอายุ ลักษณะของเขา ความสมบูรณ์ของร่างกายประกอบกัน เลือกข้อมูลที่บันทึกภาพละมั่ง 24 วัน และเนื้อทราย 19 วันต่อเนื่องกันจากกล้องดักถ่ายภาพ เพียง 1 ชุด มาวิเคราะห์จำนวนประชากรด้วยโปรแกรม capture ผลการศึกษาพบว่าลักษณะประชากรละมั่งมีลักษณะปิด (Z= -1.34, P=0.08) ผลการคำนวณประชากรละมั่งพบว่าสมการที่เหมาะสม คือ M(0) (P= 0.30) ได้จำนวนประชากรละมั่งเท่ากับ 15 ตัว (SE=1.08) ขณะที่ผลการประเมินประชากรทุกพื้นที่ด้วยสายตาทั้งหมด มีประมาณ 30 ตัว อัตราส่วนเพศผู้เต็มวัยต่อเพศเมียเต็มวัยเท่ากับ 1:6.95 สัดส่วนเพศผู้เต็มวัย: เพศเมียเต็มวัย: วัยรุ่น: ลูกอ่อนในประชากรเท่ากับ 1:6.95: 1.77:1.86: 2.09 มีสัดส่วนเพศเมียเต็มวัยต่อลูกอ่อนเท่ากับ 1: 0.30 อัตราการทดแทนในประชากรละมั่ง มีค่าร้อยละ 40.65 ขณะที่พบว่าประชากรเนื้อทรายมีลักษณะปิด (Z=-0.564, P=0.28) เช่นกัน สมการที่เหมาะสมสำหรับคำนวณประชากรเนื้อทรายได้แก่ M(h)  (P=0.08) จำนวนประชากรเนื้อทรายเท่ากับ 21 ตัว (SE=6.09) จากการประเมินด้วยสายตาในพื้นที่มีประมาณ 60 ตัวอัตราส่วนเพศผู้ต่อเพศเมียเต็มวัย 1:2.48 สัดส่วนโครงสร้างชั้นอายุในประชากร เพศผู้เต็มวัย: เพศเมียเต็มวัย: วัยรุ่น: ลูกอ่อน เป็น 1: 2.48: 0.79: 0.44: 0.26  สัดส่วนเพศเมียเต็มวัยต่อลูกอ่อนเท่ากับ 1: 0.12 อัตราการทดแทนในประชากร เนื้อทรายมีค่าร้อยละ 16.56 แม้ว่าผลการศึกษาพบอัตราการทดแทนประชากรค่อนข้างดีทั้งละมั่งและเนื้อทราย แต่จำนวนประชากรมิได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดนับจากปล่อย อาจเนื่องจากความสามารถในการรองรับของพื้นที่ที่ค่อนข้างจำกัดที่มีอยู่เฉพาะที่ราบตามหุบห้วยและพื้นที่ป่าเบญจพรรณผสมเต็งรังที่เป็นเนินเขา ดังนั้นการปรับปรุงพื้นที่โดยการเปิดพื้นที่โล่งและใช้ไฟในการจัดการทุ่งหญ้าเป็นสิ่งจำเป็นในการรักษาประชากรที่มีในพื้นที่ การติดตามศึกษาประชากร และพันธุกรรมของละมั่ง และเนื้อทรายที่ปล่อย ควรดำเนินการต่อไป


 


คำสำคัญ: ละมั่งที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ  เนื้อทรายที่ปล่อยสู่ธรรมชาติ  เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเวียงลอ วิธีจับทำเครื่องหมาย ปล่อย แล้วจับซ้ำ    

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ