การเติบโตของบุกคนโทที่งอกจากหัวย่อยบนก้านใบในสภาพปลูกเลี้ยงในเรือนเพาะชำ

Main Article Content

อรพรรณ ศังขจันทรานนท์
สหณัฐ เพชรศรี
ชัยยา ห้วยหงษ์ทอง
ดวงใจ ศุขเฉลิม

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเติบโต และปัจจัยที่มีผลต่อการเติบโตของบุกคนโท (Amorphophallus muelleri Blume) ที่งอกมาจากหัวย่อยบนก้านใบของใบที่เติบโตเต็มที่ และเริ่มหมดอายุ ในเรือนเพาะชำที่สภาพความเข้มแสงร้อยละ 70 จากสภาพแสงธรรมชาติ ได้ทำการศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2553 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2555 ณ คณะศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยทำการเก็บรวบรวมหัวย่อยของบุกคนโทในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติห้วยหนองหอย อุทยานแห่งชาติเอราวัณ จังหวัดกาญจนบุรี มาทำการวัดขนาดและแบ่งกลุ่มตามน้ำหนักหัวย่อยออกเป็น 4 กลุ่มๆ ละ 50 หัวย่อย โดยมีน้ำหนัก 5.74-13.39, 3.36-5.50, 1.73-2.94 และ 0.79-1.24 กรัม ตามลำดับ พบว่าการเติบโตของใบ ขนาด และน้ำหนักของหัวใหม่ ในกลุ่มที่ 1 มีค่าเฉลี่ยสูงสุด (6.07 กรัม) รองลงมาคือ กลุ่มที่ 2, 3 และ 4 ตามลำดับ (5.29, 4.85 และ 2.66 กรัม)  กลุ่มที่ 2 มีอัตราการรอดชีวิตสูงสุด (ร้อยละ 82) รองลงมาคือ กลุ่มที่ 3, 1 และ 4 ตามลำดับ (ร้อยละ 78, ร้อยละ 36 และร้อยละ 28) ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากปัจจัยเกี่ยวกับ อายุ ขนาด และความแข็งแรงของหัวย่อย ก่อนนำมาศึกษา ลักษณะทางกายภาพของดินที่แตกต่างจากสภาพถิ่นอาศัย ความเสียหายจากการกระแทกของน้ำฝน อุณหภูมิสูงในฤดูร้อน การเข้าทำลายของโรค แมลง และสัตว์ขนาดเล็ก


 


คำสำคัญ: บุกคนโท  หัวย่อย  การเติบโตของบุก  อุทยานแห่งชาติเอราวัณ    

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ