การใช้ประโยชน์พื้นที่หาดเลนงอกใหม่ในการเลี้ยงหอยแครง ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม
Main Article Content
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่หาดเลนงอกใหม่ ในพื้นที่ 3 หมู่บ้านของตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ประกอบด้วย บ้านแพรกทะเล บ้านคลองช่อง และบ้านคลองช่องน้อย โดยวิธีประเมินชุมชนแบบเร่งด่วน และสัมภาษณ์ผู้เลี้ยงหอยแครงทั้งหมดที่เลี้ยงในพื้นที่หาดเลน ด้วยแบบสัมภาษณ์มีโครงสร้าง หาระดับความสูงต่ำของพื้นที่หาดเลนโดยใช้เครื่องวัดความลึกระดับน้ำแบบพกพา วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อหาค่าสถิติอย่างง่าย ได้แก่ ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ค่าเฉลี่ย ค่าร้อยละ และคำนวณค่าไคสแควร์เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร ที่ระดับนัยสำคัญ 0.05
ผลการศึกษา แสดงว่า การใช้ประโยชน์ที่ดินบนพื้นที่หาดเลนงอกใหม่ในพื้นที่ศึกษา แบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ พื้นที่เลี้ยงหอยแครง 2,505.22 ไร่ (ร้อยละ 89.03) และพื้นที่อื่นๆ 308.57 ไร่ (ร้อยละ 10.97) โดยพื้นที่เลี้ยงหอยแครงมีระดับความสูงแตกต่างกัน 1.9 เมตร มีผู้เลี้ยงหอยแครงทั้งหมด 102 ราย พื้นที่เลี้ยงเฉลี่ย 19.28 ไร่ต่อราย ส่วนใหญ่ได้รับอนุญาตจากกรมประมงโดยชำระค่าอากร 80 บาทต่อไร่ต่อปี อายุเฉลี่ยของผู้เลี้ยงหอยแครง 50 ปี เป็นเพศชายและเพศหญิงใกล้เคียงกัน ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 85.30) จบชั้นประถมศึกษา ทั้งหมดเลี้ยงหอยแครงเป็นอาชีพหลัก ใช้แรงงานจากสมาชิกในครัวเรือนเกือบทั้งหมด มากกว่าครึ่งเลี้ยงลูกพันธุ์หอยแครงที่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ขณะที่หนึ่งในสามเลี้ยงลูกพันธุ์หอยแครงจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะเวลาในการเลี้ยงหอยแครงแตกต่างกันออกไปตั้งแต่ 7-18 เดือน ขึ้นกับระดับความสูงของพื้นที่หาดเลนที่ใช้เลี้ยง โดยพื้นที่ที่สูงกว่าจะใช้เวลาเลี้ยงนานกว่า ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 7.5 ตันต่อไร่ มีต้นทุนและผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 32,732.84 และ 60,450.25 บาทต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ คิดเป็นรายได้สุทธิ 27,717.41 บาทต่อไร่ต่อปี ปัจจัยที่ส่งผลต่อรายได้สุทธิจากการเลี้ยงหอยแครง ได้แก่ ระดับความสูงของหาดเลน ขนาดพื้นที่ ขนาดของพันธุ์หอยแครง ปริมาณลูกหอยแครง และชนิดพันธุ์หอยแครง (p = 0.05)
คำสำคัญ: การใช้ประโยชน์ที่ดิน หาดเลนงอกใหม่ การเลี้ยงหอยแครง ตำบลคลองโคน
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ขอรับรองว่า ต้นฉบับที่เสนอมานี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ลงในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยอมรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาต้นฉบับ ทั้งยินยอมให้กองบรรณาธิการมีสิทธิ์พิจารณาและตรวจแก้ต้นฉบับได้ตามที่เห็นสมควร พร้อมนี้ขอมอบลิขสิทธิ์ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ให้แก่วารสารวนศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณีมีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพ กราฟ ข้อความส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในผลงาน ให้เป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) แต่เพียงฝ่ายเดียว และหากข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ประสงค์ถอนบทความในระหว่างกระบวนการพิจารณาของทางวารสาร ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาบทความนั้น”