การเติบโต มวลชีวภาพ และการกักเก็บคาร์บอนในสบู่ดำ

Main Article Content

จุฬาลักษณ์ ขวัญเจริญศรี
กิติ เอกอำพน
รุ่งเรือง พูลศิริ

บทคัดย่อ

การศึกษาการเติบโต มวลชีวภาพ และการกักเก็บคาร์บอนในสบู่ดำครั้งนี้ ได้ทำการศึกษา ณ ศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ จังหวัดนครราชสีมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการเติบโต และปริมาณการกักเก็บคาร์บอนในรูปของมวลชีวภาพเหนือพื้นดินของสบู่ดำ 4 พันธุ์ ได้แก่ กำแพงแสน KUBP16 KUBP20 และ KUBP74 ที่อายุ 5 ปี โดยมีแผนการทดลองเป็นแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ ระยะปลูก 3×2 เมตร ดำเนินการศึกษาโดยทำการวัดมิติต่างๆ ของต้นไม้ ได้แก่ เส้นผ่านศูนย์กลางชิดดิน เส้นผ่านศูนย์กลางเพียงอก และความสูงทั้งหมด เพื่อนำไปประมาณหามวลชีวภาพเหนือพื้นดินด้วยสมการแอลโลเมตรี พร้อมกันนี้ได้เก็บตัวอย่างส่วนต่างๆ ของสบู่ดำ เพื่อนำไปวิเคราะห์ความเข้มข้นของคาร์บอนโดยใช้วิธี Dumus หรือ dry combustion


ผลการศึกษา พบว่า พันธุ์กำแพงแสนมีการเติบโตมากที่สุดทั้งทางขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางชิดดิน เส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก และความสูง ในขณะที่ KUBP20 มีมวลชีวภาพส่วนลำต้นมากที่สุด ส่วน KUBP74 มีมวลชีวภาพส่วนกิ่ง และใบมากที่สุด โดยมวลชีวภาพเหนือพื้นดินรวมทั้งหมดใน KUBP74 มีค่ามากที่สุด รองลงมาคือ KUBP16 KUBP20 และกำแพงแสน มีค่าเท่ากับ 17.76  16.29  15.98 และ 15.96 กิโลกรัมต่อต้น ตามลำดับ ส่วนความเข้มข้นของคาร์บอนในมวลชีวภาพมีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p>0.05) ระหว่างพันธุ์และส่วนต่างๆ ของสบู่ดำ แต่อย่างไรก็ตามสบู่ดำพันธุ์ KUBP74 มีการกักเก็บคาร์บอนในมวลชีวภาพรวมทั้งหมดสูงกว่า KUBP16 KUBP20 และกำแพงแสน โดยมีการกักเก็บคาร์บอนรวมทั้งหมดเท่ากับ 7.88  7.27  7.15 และ 7.12 กิโลกรัมคาร์บอนต่อต้น ตามลำดับ ทั้งนี้ความแตกต่างของการกักเก็บคาร์บอนเป็นผลมาจากความแตกต่างของมวลชีวภาพมากกว่าความเข้มข้นของคาร์บอนในส่วนต่างๆ ของสบู่ดำ


 


คำสำคัญ: มวลชีวภาพ การกักเก็บคาร์บอน สบู่ดำ

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ