การทดลองพันธุ์ไม้วงศ์ยาง 8 ชนิด ในสถานีวนวัฒนวิจัยทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี

Main Article Content

นิศรา จีนสุกแสง
จงรัก วัชรินทร์รัตน์
พรเทพ เหมือนพงษ์
สันต์ เกตุปราณีต

บทคัดย่อ

การทดลองพันธุ์ไม้วงศ์ยาง 8 ชนิด ได้ดำเนินการที่สถานีวนวัฒนวิจัยทองผาภูมิ อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการเติบโต และผลผลิตของพันธุ์ไม้วงศ์ยาง และ เพื่อคัดเลือกชนิดไม้วงศ์ยางที่มีความเหมาะสมในการปลูกในสภาพพื้นที่ ใช้แผนการทดลองแบบ Randomized Complete Block Design มี 8 ชนิดไม้ (tree species) 4 ซ้ำ (block) ตามลักษณะพื้นที่ที่มีความลาดชันต่างกัน ในแต่ละซ้ำเก็บข้อมูลชนิดไม้ละ 27 ต้น ระยะปลูก 2 x 4 เมตร


ผลการศึกษาปรากฏว่า เมื่อต้นไม้อายุ 14 ปี ลักษณะที่ทำการศึกษาเกือบทั้งหมดมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติ (p < 0.01) ระหว่างชนิดไม้ ยกเว้นดัชนีพื้นที่ผิวใบ สรุปผล ได้ดังนี้ พลวง และรัง จัดอยู่ในกลุ่มที่มีอัตราการรอดตายสูง มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ ร้อยละ 95.37 และ ร้อยละ 94.44 ตามลำดับ ยางนาเป็นไม้ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก ความสูงทั้งหมด ความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีทางเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก และความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีทางความสูงทั้งหมด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 19.09 เซนติเมตร 17.60 เมตร 1.36  เซนติเมตรต่อปี และ 1.26 เมตรต่อปี ตามลำดับ ยางนา และพลวง จัดอยู่ในกลุ่มที่มีมวลชีวภาพทั้งหมด สูง มีค่าเท่ากับ 22.5044 และ 21.0545 ตันต่อไร่ ตามลำดับ และจัดอยู่ในกลุ่มที่มีความเพิ่มพูนเฉลี่ยรายปีของมวลชีวภาพทั้งหมดสูง มีค่าเท่ากับ 1.6075 และ 1.5040 ตันต่อไร่ต่อปี ตามลำดับ เต็ง มีค่าดัชนีพื้นที่ผิวใบเฉลี่ยสูงที่สุด เท่ากับ 2.1233


ดังนั้น การคัดเลือกชนิดไม้ที่เหมาะสมในการศึกษาครั้งนี้ โดยพิจารณาจากลักษณะที่ทำการศึกษาต่างๆโดยรวม สรุปว่าชนิดไม้ที่เหมาะสมในการปลูกในสภาพพื้นที่คือ ยางนา และ พลวง  เนื่องจากจัดอยู่ในกลุ่มที่มีการเติบโตและผลผลิตโดยรวมสูง


 


คำสำคัญ: วงศ์ยาง จังหวัดกาญจนบุรี การคัดเลือกชนิด การทดลองพันธุ์ไม้ 

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ