ผลของชนิดกรดและระดับความเป็นกรด-ด่างต่อความสามารถในการหน่วงการเกิดคราบผิวกระจกและสมบัติของกระดาษคั่นกระจก

Main Article Content

บัญชา ตาดชื่น
สายัณห์ สมฤทธิ์ผล
สมหวัง ขันตยานุวงศ์

บทคัดย่อ

งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของชนิดกรดและระดับความเป็นกรด-ด่างต่อความสามารถในการหน่วงการเกิดคราบผิวกระจกและสมบัติของกระดาษคั่นกระจก ปัจจัยที่ใช้ในการทดลองประกอบด้วย 2 ปัจจัย กล่าวคือ 1) ชนิดของกรดได้แก่ กรดอ่อน 2 ชนิดคือ TEP01 และ TEP02 และกรดแก่ 1 ชนิดคือ TEP03 ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท เทพพัฒนากระดาษ จำกัด และ 2) ระดับความเป็นกรด-ด่าง 3 ระดับได้แก่ ระดับความเป็นกรด-ด่างที่ 4.0 5.0 และ 6.0 แผ่นชิ้นตัวอย่างกระดาษคั่นกระจกถูกเตรียมขึ้นในห้องปฏิบัติการและถูกปฏิบัติด้วยปัจจัยทั้งสอง ความสามารถในการหน่วงการเกิดคราบผิวกระจกของแผ่นชิ้นตัวอย่างฯ ทดสอบภายใต้สภาวะอุณหภูมิเฉลี่ย 32 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์เฉลี่ยร้อยละ 92 เป็นเวลา 120 วัน สมบัติต่างๆ ของแผ่นชิ้นตัวอย่างฯ เช่น ความหนาแน่น ความแข็งแรงต่อการดึง การยอมให้อากาศไหลผ่าน ความขาวสว่าง และความทึบแสง ถูกทดสอบโดยอ้างอิงมาตรฐาน TAPPI จากผลการทดลองทำให้ทราบว่าแผ่นชิ้นตัวอย่างฯ ที่ปฏิบัติด้วยกรดอ่อน TEP02 ที่ระดับความเป็นกรด-ด่างเท่ากับ 4.0 สามารถหน่วงการเกิดคราบผิวกระจกได้ดีที่สุด กล่าวคือที่ระยะเวลา 120 วัน ไม่ปรากฏคราบและราบนผิวกระจก สมบัติทางกลและสมบัติทางกายภาพของแผ่นชิ้นตัวอย่างฯ  จะได้รับผลกระทบจากชนิดกรดและระดับความเป็นกรด-ด่างที่ใช้ทดลอง ทั้งนี้อาจเป็นเพราะเส้นใยและอนุภาคผนังเซลล์เส้นใยในแผ่นชิ้นตัวอย่างฯ ถูกกรดไฮโดรไลส์ให้อ่อนแอลงและละลายตัวบางส่วน


 


คำสำคัญ: คราบผิวกระจก กระดาษคั่นกระจก ความสามารถในการหน่วง

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ