ผลกระทบของการเผาไร่หมุนเวียนบนพื้นที่สูงต่อการเก็บกักและ ปลดปล่อยคาร์บอนสู่บรรยากาศ

Main Article Content

กอบศักดิ์ วันธงไชย
พูลสถิตย์ วงศ์สวัสดิ์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการสะสม การสูญเสียจากการเผาและแนวโน้มการฟื้นกลับของคาร์บอนในไร่หมุนเวียนรอบยาว (5 ปี) ไร่หมุนเวียนรอบสั้น (2 ปี) และพื้นที่ไร่ร้างที่ไม่มีการทำการเกษตรแล้ว (พื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศ) บริเวณพื้นที่ผ่อนปรน อุทยานแห่งชาติดอยภูคา จังหวัดน่าน โดยวางแปลงศึกษาพื้นที่ละ 3 แปลง ก่อนการถางพื้นที่เพื่อทำการเกษตรได้สำรวจปริมาณเชื้อเพลิงและตรวจวัดปริมาณคาร์บอนที่สะสมอยู่ในเชื้อเพลิงและตรวจวัดคาร์บอนที่อยู่ใต้ดินที่ระดับความลึก 30 เซนติเมตร ภายหลังการเผาเก็บสิ่งที่หลงเหลือ (เถ้า ถ่าน และส่วนที่ไม่ไหม้ไฟ) และเก็บตัวอย่างดินทันที คำนวณปริมาณคาร์บอนที่สูญเสียออกไปในระหว่างการเผาพื้นที่และตรวจสอบปริมาณคาร์บอนในช่วงเวลา 6 เดือน ภายหลังการเผา


จากการศึกษาพบว่าคาร์บอนสะสมในช่วงพักพื้นที่ (ก่อนเผา) สูงที่สุดในไร่ร้าง (79.22 ตันต่อเฮกแตร์) รองลงมาได้แก่ไร่หมุนเวียนรอบยาว (73.01 ตันต่อเฮกแตร์) และในไร่หมุนเวียนรอบสั้น (45.56 ตันต่อเฮกแตร์) ซึ่งคาร์บอนในไร่ร้างไม่ได้รวมไม้ยืนต้น ไร่หมุนเวียนมีสัดส่วนการสะสมคาร์บอนใต้ดินสูงกว่าส่วนที่อยู่เหนือพื้นดิน การเผาไร่ร้างเกิดการสูญเสียคาร์บอนสัมพัทธ์ต่ำที่สุด (ร้อยละ 21) ส่วนไร่หมุนเวียนรอบยาวและรอบสั้นมีการสูญเสียใกล้เคียงกัน (ร้อยละ 35) แนวโน้มการฟื้นกลับมาในระยะเวลา 6 เดือน ของคาร์บอนในพื้นที่ไร่ร้างและไร่หมุนเวียนรอบยาวมีค่าประมาณ 0.5 ตันต่อเฮกแตร์ต่อเดือน ส่วนไร่หมุนเวียนรอบสั้นมีแนวโน้มที่ไม่ชัดเจน จากการศึกษาครั้งนี้จะพบว่าการเกษตรแบบไร่หมุนเวียนรอบยาวที่มีระยะเวลาพักพื้นที่นานเพียงพออาจจะรักษาสมดุลระหว่างการปลดปล่อยและการเก็บกักคาร์บอนได้ดีกว่าพื้นที่ไร่หมุนเวียนรอบสั้น


 


คำสำคัญ: การปลดปล่อยคาร์บอน ไร่ร้าง การถางแล้วเผา ไร่หมุนเวียน

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ