การวิเคราะห์ทางการเงินของการทำวนเกษตรในระดับครัวเรือน ภายใต้เครือข่ายวนเกษตรภูพาน จังหวัดสกลนคร

Main Article Content

สมจิตรติยา ศรีสุวรรณ
วุฒิพล หัวเมืองแก้ว
สมศักดิ์ สุขวงศ์
โกมล แพรกทอง

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้คือเพื่อวิเคราะห์ทางการเงินของการทำวนเกษตรในระดับครัวเรือน ภายใต้เครือข่ายวนเกษตรภูพาน จังหวัดสกลนคร รวมทั้งวิเคราะห์วิถีการตลาดของเม่าหลวงซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักที่ใช้ปลูกร่วมกับพืชอื่นๆ ในระบบวนเกษตรที่ศึกษา ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษารวบรวมได้จากการใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้น สัมภาษณ์เกษตรกรตัวอย่างจำนวน 56 ครัวเรือน ในการวิเคราะห์ผลสำเร็จทางด้านการลงทุนในการทำวนเกษตรได้เน้นศึกษาเฉพาะ 3 รูปแบบหลักได้แก่ รูปแบบที่ 1 คือ การปลูกเม่าหลวงร่วมกับลำไยและดาวเรือง รูปแบบที่ 2 คือ การปลูกเม่าหลวงร่วมกับมะขามหวานและกล้วย และรูปแบบที่ 3 คือ การปลูกเม่าหลวงร่วมกับน้อยหน่าและมะละกอ โดยได้แบ่งขนาดแปลงวนเกษตรตัวอย่างออกเป็น 3 ขนาด คือ แปลงขนาดเล็ก (4-7 ไร่) แปลงขนาดกลาง    (8-11ไร่) และแปลงขนาดใหญ่ (12-16 ไร่) หลักเกณฑ์การวิเคราะห์ทางการเงินที่ใช้มี  3 วิธี คือ มูลค่าปัจจุบันสุทธิ  อัตราผลตอบแทนต่อต้นทุน และผลตอบแทนของโครงการ  เป็นเครื่องมือวัดความเหมาะสมของการลงทุน โดยกำหนดระดับอัตราคิดลด  3 ระดับ คือ ร้อยละ 5,  8  และ 10 และกำหนดระยะเวลาของโครงการเท่ากับ 25 ปี


ผลการศึกษาสรุปได้ว่า แปลงทุกขนาดในทุกรูปแบบและในทุกระดับอัตราคิดลด ให้ผลตอบแทนคุ้มค่ากับการลงทุน เนื่องจากมูลค่าปัจจุบันสุทธิมีค่าเป็นบวกและมีค่ามากกว่า  0  อัตราส่วนผลตอบแทนต่อต้นทุนทุกค่ามีค่ามากกว่า 1  และอัตราผลตอบแทนของโครงการมีค่ามากกว่าอัตราคิดลดสูงสุดที่กำหนดไว้ โดยการลงทุนในแปลงขนาดกลาง รูปแบบที่ 1 ให้ผลตอบแทนสูงกว่าแปลงอื่นๆ สำหรับวิถีการตลาดของผลิตผลหลักจากระบบวนเกษตร คือ เม่าหลวง พบว่า ผลผลิตเม่าหลวงสดที่ผลิตได้ทั้งหมด จำนวน 40.88 ตัน ในปี พ.ศ. 2550 และได้กระจายไปสู่การแปรรูป จำนวน  2 แหล่ง คือ โรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ร้อยละ 55.75 และกลุ่มแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ร้อยละ 44.25 เพื่อเข้าสู่กระบวนการผลิตเป็นไวน์ น้ำผลไม้พร้อมดื่ม และน้ำผลไม้เข้มข้น


 


คำสำคัญ: การวิเคราะห์ทางการเงิน วนเกษตร เครือข่ายวนเกษตรภูพาน

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ