การมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการป่าผลิตเล่างาม จังหวัดสาละวัน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Main Article Content

คำผ่าน สีลาวี
นิตยา เมี้ยนมิตร
พสุธา สุนทรห้าว

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) สภาพเศรษฐกิจสังคมของประชาชนในชุมชนและการใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ในป่าผลิต  2) ระดับการมีส่วนร่วมและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการป่าผลิตเล่างาม  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ ราษฎรที่อาศัยอยู่ในบ้านดงมอน และบ้านหนองโพ อำเภอวาปี จังหวัดสาละวัน จำนวน 121 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยคือ แบบสัมภาษณ์ นำข้อมูลที่ได้มาประมวลผลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โปรแกรมสำเร็จรูปทางสังคมศาสตร์ สถิติที่ใช้ในการวิจัยคือ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และค่าทดสอบไคสแควร์ กำหนดค่านัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05


ผลการวิจัยพบว่า ราษฎรที่ศึกษาเป็นเพศชาย  อายุเฉลี่ย 43.20 ปี มีสถานภาพแต่งงานแล้ว จบการศึกษาระดับชั้นประถมศึกษา  มีจำนวนสมาชิกในครัวเรือน เฉลี่ย 6 คน มีอาชีพหลักทำนา อาชีพรองคือรับจ้างทั่วไป  รายได้รวมเฉลี่ย 26,357.02 บาทต่อปี  รายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ย 24,158.93  บาทต่อปี  สำหรับกิจกรรมที่ได้รับทุนส่งเสริมจากโครงการป่าผลิตคือ การเลี้ยงสัตว์  การถือครองพื้นที่ทำกินส่วนใหญ่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง  มีพื้นที่ทำกินเฉลี่ย 18.88 ไร่ต่อครัวเรือน การใช้ประโยชน์ที่ดินส่วนใหญ่เป็นการปลูกข้าว ปัญหาเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดินได้แก่ น้ำชลประทานไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร มีการตัดไม้จากป่ามาเพื่อก่อสร้างที่อยู่อาศัยและใช้สอยในครัวเรือน ปริมาณที่ใช้ในครัวเรือนเฉลี่ย 4.45 ลูกบาศก์เมตรต่อปี นอกจากนี้มีการเก็บหามาใช้เป็นเชื้อเพลิงเป็นปริมาณ 6 ลูกบาศก์เมตรต่อครัวเรือนต่อปี ราษฎรทุกรายมีการเก็บหน่อไม้  เก็บเห็ด  ผักหวาน ผลไม้ป่า และแมลงกินได้ เป็นปริมาณ 38.77,  18.68,14.76, 9.62  และ 9.2 กิโลกรัมต่อครัวเรือนต่อปี ตามลำดับ ส่วนใหญ่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการ สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าไม้ พบว่า ราษฎรที่ศึกษาประสบปัญหาในเรื่อง การลดลงของพื้นที่ป่าไม้และการลดลงของของป่า เช่น ผึ้ง หวาย สำหรับปัญหาและอุปสรรคในการมีส่วนร่วมจัดการป่าผลิตได้แก่ ชาวบ้านไม่มีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม  และให้ข้อเสนอแนะว่า ส่งเสริมการอนุรักษ์ให้กว้างขวางขึ้น และควรเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารด้านป่าผลิต ผลการทดสอบสมมติฐานปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของประชาชนพบว่า เพศ และระดับการศึกษามีความสัมพันธ์กับระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าผลิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 


จากการศึกษาระดับการมีส่วนร่วมในการจัดการป่าผลิต พบว่าการมีส่วนร่วมในภาพรวมมีส่วนร่วมในการวางแผน ร้อยละ 63.83  มีส่วนร่วมในการ ดำเนินกิจกรรม ร้อยละ 59.41  มีส่วนร่วมในการ ติดตามประเมินร้อยละ 44.93


สำคัญ: การมีส่วนร่วมของชุมชน การจัดการป่าผลิต สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ