การให้คุณค่าพื้นที่คุ้มครองโดยผู้ใช้ประโยชน์: กรณีศึกษาอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

Main Article Content

ศิรดา นัยผ่องศรี
นภวรรณ ฐานะกาญจน์ พงษ์เขียว
สันต์ เกตุปราณีต

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะการให้คุณค่าพื้นที่คุ้มครองของผู้มาเยือนและประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการตอบสนองต่อแนวทางการจัดการพื้นที่คุ้มครองของผู้มาเยือนและประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และเพื่อศึกษาอิทธิพลของการให้คุณค่าที่มีต่อพฤติกรรมการตอบสนองต่อแนวทางการจัดการพื้นที่คุ้มครองของผู้มาเยือนและประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยเก็บข้อมูลจากผู้มาเยือนในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 200 คนและประชาชนในชุมชนท้องถิ่นที่อาศัยอยู่รอบเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จำนวน 247 คน ด้วยแบบสอบถามและทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา การวิเคราะห์ปัจจัย การทดสอบที การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ และการวิเคราะห์การถดถอยพหุ      


ผลการวิเคราะห์ปัจจัย พบว่าสามารถจำแนกการให้คุณค่าพื้นที่คุ้มครองได้ 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) คุณค่าด้านนันทนาการและการพักผ่อนหย่อนใจ 2) คุณค่าด้านการเป็นแหล่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ 3) คุณค่าด้านการให้บริการสิ่งแวดล้อมและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิต 4) คุณค่าด้านการเรียนรู้ธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของนิสิต นักศึกษา และเป็นแหล่งที่สัตว์ป่าดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย โดยทั้ง 4 กลุ่มปัจจัย อธิบายค่าความแปรปรวนในกลุ่มตัวอย่างได้ประมาณร้อยละ 57 (cumulative percentage of  variance = 56.571)  ผลการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนนรวมของการให้คุณค่าพื้นที่คุ้มครองโดยผู้ใช้ประโยชน์ 2 กลุ่ม ด้วยวิธีการทดสอบที พบว่าการให้คุณค่าพื้นที่คุ้มครองในแต่ละด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ผู้มาเยือนและประชาชนในชุมชนท้องถิ่นส่วนใหญ่มีพฤติกรรมตอบสนองต่อแนวทางการจัดการพื้นที่คุ้มครองทางบวกมาก คิดเป็นร้อยละ 81.5 และ 93.4 ตามลำดับ ผลการวิเคราะห์สหสัมพันธ์ระหว่างการให้คุณค่าด้านต่างๆที่ผู้มาเยือนและประชาชนในชุมชนท้องถิ่นมีต่อพื้นที่คุ้มครองกับพฤติกรรมการตอบสนองต่อแนวทางการจัดการพื้นที่คุ้มครอง พบว่าการให้คุณค่าทั้ง 4 ด้านมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการตอบสนองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม และเมื่อทดสอบความมีอิทธิพลต่อกัน พบว่าคุณค่าด้านการเป็นแหล่งอนุรักษ์สภาพธรรมชาติดั้งเดิมฯ และคุณค่าด้านการเรียนรู้ธรรมชาติและประวัติศาสตร์ของนิสิต นักศึกษาฯ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตอบสนองของผู้มาเยือนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยก่อให้เกิดการแปรผัน ร้อยละ 16 ( F=9.381; P-value = 0.000; R2= 0.16) ในขณะที่คุณค่าด้านการอนุรักษ์สภาพธรรมชาติดั้งเดิมฯ และคุณค่าด้านการให้บริการสิ่งแวดล้อมและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีวิตมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการตอบสนองของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น โดยก่อให้เกิดการแปรผันร้อยละ 15 (F=10.220; P-value =0.000; R2=0.15)


 


คำสำคัญการให้คุณค่าพื้นที่คุ้มครอง  ผู้มาเยือน  ประชาชนในชุมชนท้องถิ่น  อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
บทความวิจัยสั้น