การเติบโตและลักษณะทางสรีรวิทยาของกล้าไม้ยูคาลิปตัส 4 สายต้น ภายใต้ความเข้มแสงที่ต่างกัน

Main Article Content

นรากร ศรีเลิศ
สาพิศ ดิลกสัมพันธ์

บทคัดย่อ

การเติบโตและลักษณะทางสรีรวิทยาของกล้าไม้ยูคาลิปตัส 4 สายต้นที่ปลูกอยู่ภายใต้ความเข้มแสงต่างกัน ได้ทำการศึกษาในเรือนเพาะชำที่คณะวนศาสตร์ โดยศึกษาการเติบโตของยูคาลิปตัสทั้ง 4 สายต้น วางแผนการทดลองแบบแฟคทอเรียล (4x2 factorial design in RCBD) มี 2 ปัจจัย ปัจจัยแรกคือ ยูคาลิปตัส 4 สายต้น (K7, K51, K58 และ K59) และปัจจัยที่สองคือ ระดับความเข้มแสงในเรือนเพาะชำ 2 ระดับ (ความเข้มแสงปกติ หรือร้อยละ 100 และความเข้มแสงร้อยละ 30 ของความเข้มแสงปกติ) จำนวน 3 ซ้ำ เก็บข้อมูลการเติบโต มวลชีวภาพ ปริมาณคลอโรฟิลล์และการตอบสนองของการสังเคราะห์แสงต่อความเข้มแสงภายหลังจากการทดลอง 6 เดือน  


ผลการศึกษาพบว่าความเข้มแสงมีอิทธิพลต่อการเติบโตและมวลชีวภาพส่วนต่างๆ (ยกเว้นมวลชีวภาพของใบและราก) ของกล้าไม้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในขณะที่ความแตกต่างของสายต้นมีอิทธิพลต่อการเติบโตทางความสูงและมวลชีวภาพของกิ่ง ใบและรากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ยังพบว่าอัตราส่วนระหว่างลำต้นต่อราก (shoot/root ratio) มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เนื่องจากอิทธิพลของสายต้นเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงการแปรผันของลักษณะรูปทรงของกล้าไม้จากลักษณะทางพันธุกรรม


การวิเคราะห์ปริมาณคลอโรฟิลล์พบว่ามีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสายต้น และกล้าไม้ภายใต้ความเข้มแสงต่ำมีปริมาณคลอโรฟิลล์มากกว่ากล้าไม้ที่ได้รับแสงเต็มที่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นอกจากนี้ การตอบสนองดังกล่าวมีความแตกต่างระหว่างสายต้น


จากการวิเคราะห์การตอบสนองของอัตราการสังเคราะห์แสงต่อความเข้มแสงพบว่ารูปแบบการตอบสนองของอัตราการสังเคราะห์แสงต่อความเข้มแสงมีลักษณะคล้ายคลึงกัน แต่อัตราการสังเคราะห์แสงสูงสุดมีการแปรผันเนื่องจากอิทธิพลของความเข้มแสงและสายต้น ในขณะที่ความแตกต่างของการหายใจในที่มืดเกิดจากความแตกต่างของความเข้มแสงเท่านั้น ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าสายต้น K7 มีแนวโน้มที่ทนร่มได้ดีกว่าสายต้นอื่น สามารถนำไปปลูกด้วยระยะปลูกที่แคบ และ/หรือ ภายใต้ร่มเงาได้ดี


คำสำคัญ: การเติบโตและสรีรวิทยา, กล้าไม้ยูคาลิปตัส, ความเข้มแสง

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ