การประเมินแบบมีส่วนร่วมด้านศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศบริเวณ ป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย: กรณีศึกษาบ้านหาดไคร้ เมืองท่าพระบาท แขวงบริคำไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Main Article Content

บุญทวี ดวงโพธิ์ศรี
มณฑล จำเริญพฤกษ์
ดรรชนี เอมพันธุ์

บทคัดย่อ

การศึกษาการประเมินศักยภาพการท่องเที่ยวเชิงนิเวศแบบมีส่วนร่วมบริเวณป่าสงวนแห่งชาติภูเขาควาย แขวงบริคำไซ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงสำรวจพื้นที่โดยใช้แบบประเมินและสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บข้อมูล โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนมีส่วนร่วม เพื่อศึกษาความต้องการและความพร้อมของชุมชนในการบริหารจัดการและการให้บริการการท่องเที่ยวเชิงนิเวศและเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความคิดเห็นของชุมชนที่มีต่อแผนการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยชุมชนมีส่วนร่วม วิธีการประเมินศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศโดยการสำรวจและใช้คู่มือแบบประเมินและสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างจำนวน 75 คน วิเคราะห์ข้อมูลในรูปของค่าทางสถิติ ได้แก่ ค่าสูงสุด ต่ำสุด ค่าร้อยละค่าเฉลี่ยและการทดสอบสมมติฐานเพื่อหาความสัมพันธ์ของตัวแปรโดยวิธีการหาค่าไคสแควร์ (chi-square)


ผลจากการประเมินมาตรฐานคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศมีความเป็นไปได้มากโดย ค่าคะแนนรวมทั้ง 4 ดัชนีชี้วัดเท่ากับ 61 หรือระดับมาตรฐานดี และผลจากประเมินความคิดเห็นด้านการให้บริการกิจกรรมที่พักอาศัยคือ ความต้องการอยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.44 และความพร้อมอยู่ในระดับมากมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 2.69  การประเมินความคิดเห็นด้านกิจกรรมมัคคุเทศก์คือ ความต้องการอยู่ในระดับมากที่สุดมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.51 และความพร้อมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.03 การประเมินความคิดเห็นด้านกิจกรรมการให้บริการค้าขายสินค้าแก่นักท่องเที่ยวคือ ความต้องการอยู่ในระดับมากมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 3.19 และความพร้อมอยู่ในระดับปานกลางมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 2.05


การประเมินความคิดเห็นด้านกิจกรรมความต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาลในการเข้าร่วมกิจกรรม โดยผลของระดับความคิดเห็นทั้ง 4 ด้าน อยู่ในระดับปานกลางคือ ความต้องการสนับสนุนเกี่ยวกับที่พักมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 2.00 ความต้องการสนับสนุนด้านการเป็นมัคคุเทศก์มีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 2.00 ความต้องการสนับสนุนด้านสิ่งก่อสร้างพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 2.01 และความต้องการสนับสนุนด้านการค้าขายมีค่าเฉลี่ยรวมเท่ากับ 2.00 และสุดท้ายผลการทดสอบสมมติฐานความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ เพศกับความพร้อมในการให้บริการเป็นมัคคุเทศก์ อายุกับความต้องการในการให้บริการที่พัก อายุกับความต้องการในการให้บริการมัคคุเทศก์ อายุกับความพร้อมในการให้บริการมัคคุเทศก์ อาชีพกับความต้องการในการให้บริการที่พัก และรายได้กับความพร้อมในการให้บริการที่พัก


 


คำสำคัญ: การประเมินศักยภาพ การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การมีส่วนร่วมของชุมชน ประเทศลาว

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ