การประเมินระบบป้ายสื่อความหมายธรรมชาติและเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน วนอุทยานปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

Main Article Content

ปภาดา สืบพลาย
พัชนุช วงศ์วรรธนะ ฟอสเตอร์
สุวิทย์ แสงทองพราว

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบความรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลนของผู้มาเยือนหลังจากเสร็จสิ้นการใช้ประโยชน์เส้นทางศึกษาธรรมชาติ ประเมินระบบป้ายสื่อความหมายธรรมชาติและเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนจากความคิดเห็นของผู้มาเยือน และเสนอแนะแนวทางการพัฒนา ปรับปรุงระบบป้ายสื่อความหมายธรรมชาติและเส้นทางศึกษาธรรมชาติ โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบสอบถามจากผู้ที่มาเยือนวนอุทยานปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำนวน 400 ตัวอย่าง และแบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม คือ เยาวชนและกลุ่มผู้ใหญ่ ทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาและวิธีการทดสอบที (t-test) กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติไว้ที่ระดับ 0.05


ผลการวิจัยพบว่า ความรู้เรื่องระบบนิเวศป่าชายเลนหลังจากการใช้ประโยชน์ในเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ใหญ่มีความรู้อยู่ในระดับปานกลางเช่นเดียวกัน และผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ความรู้ของกลุ่มเยาวชนกับกลุ่มผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (t = -0.909; p-value = 0.787) นอกจากนี้กลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ใหญ่มีความคิดเห็นว่าระบบป้ายสื่อความหมายธรรมชาติและเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนมีความเหมาะสมอยู่ในระดับสูง และผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า ความคิดเห็นต่อระบบป้ายสื่อความหมายธรรมชาติและเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ใหญ่มีความแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (t = 5.43; p-value = 0.862) สำหรับข้อเสนอแนะในการพัฒนาและปรับปรุงเส้นทางศึกษาธรรมชาติของกลุ่มเยาวชนและกลุ่มผู้ใหญ่ มีความคิดเห็นคล้ายคลึงกันว่าเนื้อหาของป้ายควรสั้น กระชับได้ใจความมากกว่านี้ พร้อมปรับปรุงรูปภาพให้มีความชัดเจน และควรเพิ่มเติมสิ่งอำนวยความสะดวกให้เพียงพอต่อการใช้ประโยชน์ สำหรับกลุ่มเยาวชนมีความคิดเห็นเพิ่มเติมว่าควรมีการดูแลเรื่องความสะอาดของเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอย่างสม่ำเสมอ  


คำสำคัญ: การประเมินเส้นทางศึกษาธรรมชาติ  เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน  วนอุทยานปราณบุรี

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ