การประมาณการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินของป่าไม้ ด้วยเทคนิคการสำรวจระยะไกล บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก

Main Article Content

สุขี บุญสร้าง
วันชัย อรุณประภารัตน์

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์  เพื่อประมาณการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินของป่าไม้ด้วยเทคนิคการสำรวจระยะไกลบริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก โดยการวิเคราะห์สมการถดถอยหาความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณการกักเก็บคาร์บอนที่อยู่เหนือพื้นดินกับค่าการสะท้อนช่วงคลื่นที่เกี่ยวข้องกับพืชพรรณจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม LANDSAT 5 TM ใน ปี พ.ศ.2550 ได้แก่ แบนด์ 2 (G)  แบนด์ 3 (R) และแบนด์4  (IR) รวมทั้งค่าดัชนีที่เกี่ยวข้องกับพืชพรรณ ได้แก่ การลบแบบง่าย : IR–R  การหารแบบง่าย : IR/R  NDVI  TVI และ GVI  เพื่อหาสมการที่เหมาะสมที่สุดในการประมาณค่าการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินของป่าไม้ บริเวณเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก


การศึกษาในครั้งนี้ได้สร้างสมการที่เหมาะสมที่สุดในการประมาณการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดิน (CS) ของป่าประเภทต่างๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่นได้เป็นอย่างดี โดยสมการเพื่อการประมาณการกักเก็บคาร์บอนป่าดิบแล้งมีสมการที่เหมาะสมที่สุด คือ CS = 630.339 (R) – 74.019 และมีค่าสัมประสิทธิ์กำหนด (R2) เท่ากับ 0.839 ป่าดิบเขามีสมการที่เหมาะสม คือ CS = 327.630 (IR) – 27.974 (IR/R) – 36.188 และมีค่า R2 เท่ากับ 0.854 ป่าเบญจพรรณ มีสมการที่เหมาะสม คือ CS = 951.608 (IR–R) – 505.367 (IR)  – 62.406 (IR/R) + 134.572 และมีค่า R2 เท่ากับ 0.741 และป่าเต็งรัง มีสมการที่เหมาะสม คือ CS =  53.140 (IR) – 41.031 (TVI) – 194.004 (G) + 59.783 และมีค่า R2 เท่ากับ 0.745  ในการประมาณการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินของป่าไม้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น ในปีพ.ศ. 2550 โดยใช้สมการที่เหมาะสมสำหรับป่าประเภทต่างๆ นั้น สามารถประมาณการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินได้ทั้งสิ้น 8,886,516.9 ตันคาร์บอน โดยป่าประเภทต่างๆ มีอัตราการกักเก็บคาร์บอนเหนือพื้นดินแตกต่างกันไปโดยที่ป่าดิบแล้งมีอัตราการกักเก็บคาร์บอนมากที่สุด รองลงมาคือ ป่าดิบเขา ป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง ตามลำดับ (129,  102.43,  80.16, และ 54.68  ตันคาร์บอนต่อเฮกแตร์) 


 


คำสำคัญ: การกักเก็บคาร์บอน  การสำรวจระยะไกล  เขตรักษาพันธุ์สัตป่าแม่ตื่น จังหวัดตาก

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ