การประเมินค่าความชื้นในดินโดยใช้ดัชนีพืชพรรณ บริเวณไร่มันสำปะหลัง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา

Main Article Content

ขนิษฐา สุทธิบริบาล
สมนิมิตร พุกงาม
ปิยพงษ์ ทองดีนอก

บทคัดย่อ

การประเมินค่าความชื้นในดินโดยใช้ดัชนีพืชพรรณ บริเวณไร่มันสำปะหลัง อำเภอครบุรี จังหวัดนครราชสีมา ทำการศึกษาความผันแปรความชื้นในดิน 2 วิธี คือ การตรวจวัดตรงโดยการวัดปริมาณความชื้นในดินแบบ gravimetric method แบบเดือนเว้นเดือน กำหนดช่วงเวลาในการเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2552 ถึง เดือนมีนาคม พ.ศ.2553 ที่ระดับความลึกจากผิวดิน 0-5 เซนติเมตร ร่วมกับการใช้เครื่องวัดความชื้นในดินแบบ frequency domain reflectometry (FDR) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความผันแปรของความชื้นในดินในแต่ละช่วงระยะการเติบโตของพืช และการประเมินค่าความชื้นในดินโดยใช้ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียม Landsat 5 TM วิเคราะห์ค่าดัชนีพืชพรรณที่มีความเกี่ยวข้องกับความชื้นในดิน โดยใช้ค่าดัชนีพืชพรรณ 8 ดัชนี คือ RVI, NDVI, TNDVI, IPVI, GNDVI, DVI, VI และ NDWI ผลศึกษาพบว่าความชื้นในดินเฉลี่ยตลอดปีมีค่าเท่ากับร้อยละ 15.07 โดยปริมาตร เมื่อพิจารณาความชื้นในดินตามช่วงระยะการเติบโตของพืช พบว่า ความชื้นในดินเฉลี่ยสูงสุดมีค่าเท่ากับร้อยละ 24.98 โดยปริมาตรในระยะลงหัว และความชื้นในดินเฉลี่ยต่ำสุดเท่ากับร้อยละ 7.25 โดยปริมาตรในระยะเตรียมดิน เมื่อใช้ข้อมูลจากการสำรวจระยะไกล หาความสัมพันธ์เชิงเส้นเชิงพหุระหว่างค่าความชื้นในดินที่วัดได้ในแต่ระยะการเติบโตของพืชกับค่าดัชนีพืชพรรณ 8 ดัชนี มีรูปแบบความสัมพันธ์ตามฤดูกาล คือ ตลอดการเติบโตของพืช SMAll = 6.301+13.93NDVI-10.62VI+0.06DVI (R2 = 0.97) ช่วงน้ำหลาก SMWet = 8.402-14.84VI+13.9NDVI (R2 = 0.91) ช่วงแล้งฝน SMDry = 6.084+17.46NDVI+0.08DVI-10.66NDWI (R2 = 0.98) เมื่อ SM  คือ ความชื้นในดิน หน่วยร้อยละโดยปริมาตร, NDVI  คือ normalized difference vegetation index, VI คือ vegetation index, DVI  คือ difference vegetation index, NDWI คือ normalized difference water index


คำสำคัญ: ความชื้นในดิน ดัชนีพืชพรรณ ไร่มันสำปะหลัง นครราชสีมา

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ