การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนหมู่บ้านหลัก 32 เมืองไซ แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

Main Article Content

ดาวเวียง สิทธิราช
ทิพรัตน์ พงศ์ธนาพาณิช
นุชนาถ มั่งคั่ง

บทคัดย่อ

บทความนี้มุ่งวิเคราะห์การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้และระดับความตระหนักต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนชนเผ่าต่างๆ ในพื้นที่หมู่บ้านหลัก 32 เมืองไซ แขวงอุดมไซ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) ข้อมูลมาจากแบบสัมภาษณ์ครัวเรือน 100 ตัวอย่าง จาก 5 ชนเผ่า และนำมาวิเคราะห์ค่าสถิติพื้นฐานร่วมกับการวิเคราะห์เชิงคุณภาพ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างใช้ประโยชน์จากของป่า 11 ประเภท ได้แก่ ไม้ฟืน หน่อไม้ ดอกแขม พืชผักป่า เห็ดป่า ผลไม้ป่า สัตว์ป่า สมุนไพร ยอดหวาย แมลงกินได้ และกล้วยไม้ป่า คิดเป็นมูลค่า 3,623,651.00 บาทต่อปี หรือเฉลี่ย 11,467.25 บาท ต่อครัวเรือนต่อปี โดยเป็นมูลค่าจากการใช้ในครัวเรือน 5,140.81 บาท (ม้ง ขมุ และพูน้อย จากมากไปน้อยตามลำดับ) และมูลค่าจากการขาย 6,326.44 บาท (ขมุ ม้ง และลาวลุ่ม) เมื่อพิจารณาจากระดับความตระหนักในการอนุรักษ์ 3 ด้าน คือ การใช้ประโยชน์อย่างรู้คุณค่า การปกปักษ์รักษา และการฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ พบว่า ระดับความตระหนักในแต่ละชนเผ่าไม่แตกต่างกันมากนักในแต่ละด้าน จากผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นว่า ชุมชนในพื้นที่ศึกษายังคงมีวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่พึ่งพาทรัพยากรป่าไม้เป็นหลัก แต่มีบางชนเผ่าหันไปประกอบอาชีพอื่นแทนการเก็บของป่า ปรากฏการณ์นี้อาจช่วยลดแรงกดดันการแข่งขันเข้าใช้ประโยชน์จากป่าจนทรัพยากรเสื่อมโทรม การสร้างความรู้และความเข้าใจในการใช้ประโยชน์ให้แก่ชุมชนอย่างต่อเนื่องอาจมีส่วนช่วยเพิ่มระดับความตระหนักในการอนุรักษ์ ซึ่งจะส่งผลให้ทรัพยากรป่าไม้ของชุมชนสามารถคงอยู่และเกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน


 


คำสำคัญ: ทรัพยากรป่าไม้ มูลค่าการใช้ประโยชน์ทางตรง ความตระหนักต่อการอนุรักษ์ ชนเผ่า สปป.ลาว

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ