การสลายตัวของซากใบพืชในสวนป่าไม้ต่างถิ่น ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่

Main Article Content

ภุชนาฏ แสงอ่อน
รุ่งเรือง พูลศิริ

บทคัดย่อ

การศึกษาอัตราการสลายตัวของซากใบไม้ในสวนป่าไม้ต่างถิ่น ณ สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการในสวนป่ากระถินดอย (Acacia confusa) จันทร์ทองเทศ (Fraxinus griffithii) เมเปิลหอม (Liquidambar formosana) การบูร (Cinnamomum camphora) และสนหนาม (Cunninghamia lanceolata) ดำเนินการทดลองตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2547 ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2548 โดยใช้ถุงตาข่ายไนล่อน (litter bags) บรรจุซากใบไม้และนำไปวางบนผิวดินและเก็บถุงตาข่ายไนล่อนทุกเดือนมาทำการวิเคราะห์หาการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักของซากพืชที่เป็นใบและการปลดปล่อยสารอาหารในซากพืชที่เป็นใบตลอดการทดลอง


ผลการศึกษา พบว่า ซากพืชที่เป็นใบการบูรมีการย่อยสลายเร็วที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.43 รองลงมา คือ จันทร์ทองเทศ ร้อยละ 61.78 เมเปิลหอม ร้อยละ 57.39 กระถินดอย ร้อยละ 48.36 และสนหนาม ร้อยละ 23.99 และค่าคงที่ของการย่อยสลาย (k) เท่ากับ 1.2886, 0.9620, 0.8530, 0.6609 และ 0.2743 ต่อปี ตามลำดับ โดยน้ำหนักแห้งของซากใบพืชทั้ง 5 ชนิดที่สูญหายไปในแต่ละเดือนมีความสัมพันธ์ไปในทิศทางเดียวกันกับอุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ และปริมาณน้ำฝนในพื้นที่ ความเข้มข้นของคาร์บอนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลาการศึกษา ส่วนไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และแคลเซียม จะลดลงในช่วงแรกและค่อยๆ เพิ่มขึ้นในระยะหลัง ความเข้มข้นของโพแทสเซียมจะลดลงอย่างรวดเร็วและเพิ่มขึ้นในระยะหลัง และแมกนีเซียมมีแนวโน้มลดลงเมื่อระยะเวลาการย่อยสลายนานขึ้น


 


คำสำคัญ: ค่าคงที่ของการย่อยสลาย (k) สวนป่าไม้ต่างถิ่น การสลายตัวของซากพืช สารอาหารพืช

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ