ศักยภาพด้านเศรษฐกิจสังคมของไม้ตะกู และโอกาสความเป็นไปได้ ของการลงทุนปลูกสร้างสวนป่า

Main Article Content

พสุธา สุนทรห้าว
วุฒิพล หัวเมืองแก้ว

บทคัดย่อ

ศักยภาพด้านเศรษฐกิจสังคมของไม้ตะกูและโอกาสความเป็นไปได้ของการลงทุนปลูกสร้างสวนป่า มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสถานภาพปัจจุบันของระบบการผลิตและครรลองการตลาด ผลตอบแทนด้านการเงิน โอกาสความเป็นไปได้ของการลงทุน และความอ่อนไหวของการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกู ทั้งนี้ได้เน้นธุรกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับไม้ตะกู ตั้งแต่แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์และกล้าไม้ การค้าส่งและค้าปลีกกล้าไม้ สวนป่าไม้ตะกู แหล่งรับซื้อไม้ตะกู โรงงานประดิษฐกรรมไม้ และผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ ที่กระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ ซึ่งการศึกษาได้มีการสุ่มตัวอย่างแบบจำแนกชั้นตามลักษณะของแต่ละประเภทธุรกิจ


ผลการศึกษา พบว่า ไม้ตะกูได้ถูกตั้งชื่อทางการค้ามากมาย เช่น “ไม้ตะกูยักษ์” “ไม้ตะกูใหญ่” “ไม้ตุ้มหลวง”  “ไม้สักเขียว” “ไม้มหาเศรษฐี” เพื่อการโฆษณาในหลากหลายรูปแบบอย่างเป็นรูปธรรมตั้งแต่ต้น ปี พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะการติดป้ายโฆษณาขายกล้าไม้ตามริมสองข้างถนน และการโฆษณาผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ในขณะนี้พบว่ามีเกษตรกร 12,318 คน ได้ดำเนินการปลูกไปแล้วในพื้นที่ 32,473 ไร่ และคิดเป็นมูลค่าเงินหมุนเวียนที่เกิดขึ้นจากการลงทุนประมาณ 533 ล้านบาท  โดยพบว่าผู้ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับไม้ตะกูเป็นผู้ที่มีการศึกษาและฐานะทางการเงินดี ในส่วนของระบบการผลิตและครรลองการตลาดพบว่า แหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ไม้และกล้าไม้รวมทั้งสวนป่าไม้ มีการกระจายครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเมล็ดไม้ตะกูส่วนใหญ่มีแหล่งกำเนิดมาจากทางภาคเหนือของประเทศ ส่วนการปลูกสร้างสวนป่ามีการดำเนินการอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด แต่ทั้งนี้ระบบยังขาดความชัดเจนในส่วนของผู้รับซื้อไม้และโรงงานประดิษฐกรรมไม้ สำหรับผลตอบแทนด้านการเงินจากการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกู โดยการคำนวณมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (net present value, NPV) และอัตราส่วนผลประโยชน์ต้นทุน (B/C ratio) ที่ระดับอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 6 และกำหนดรอบตัดฟันเท่ากับ 5 ปี พบว่าประสบกับปัญหาการขาดทุนในทุกระดับราคาไม้ท่อนตะกูที่ต่ำกว่า 1,734 บาท/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่ทำให้เกิดจุดคุ้มทุน (break-even point) ส่วนโอกาสด้านการลงทุน พบว่า ยังให้ผลตอบแทนต่ำที่สุดเมื่อเปรียบกับพืชเศรษฐกิจ 5 ชนิด ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม้ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ยูคาลิปตัส และจากการวิเคราะห์ความอ่อนไหวของการปลูกสร้างสวนป่าไม้ตะกู พบว่า เมื่อราคากล้าไม้เท่ากับ 1 บาท/ต้น ซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำสุดที่เป็นไปได้ ราคารับซื้อไม้ท่อนอย่างน้อยต้องเท่ากับหรือมากกว่า 800 บาท/ตัน ถึงจะเหมาะสมสำหรับการลงทุน


 


คำสำคัญ: ไม้ตะกู  ศักยภาพด้านเศรษฐกิจสังคม  ระบบการผลิต  ครรลองการตลาด  การลงทุนปลูกสร้างสวนป่า

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ