แผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณา

Main Article Content

อิสรีย์ ฮาวปินใจ
วิวัฒน์ หาญวงศ์จิรวัฒน์
นิคม แหลมสัก

บทคัดย่อ

จากการศึกษาการผลิตแผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณา ทั้งจากไม้ที่ไม่เกิดสารกฤษณาและเศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหย ที่ความหนาแน่น 0.65 กรัม/ลูกบาศก์เซนติเมตร และใช้ปริมาณกาวในชั้นผิวร้อยละ 8, 10 และ 12 ของน้ำหนักอบแห้งของชิ้นไม้ ปริมาณกาวของชั้นไส้ร้อยละ 6, 8 และ 10 ของน้ำหนักอบแห้งของชิ้นไม้ ที่อุณหภูมิอัดร้อน 140, 150, 160 และ 180 องศาเซลเซียส ด้วยความดันจำเพาะ 41 กิโลกรัม/ตารางเซนติเมตร ทำการทดสอบสมบัติทางกายภาพและกลสมบัติของแผ่นชิ้นไม้อัดตาม European Standard (EN)


จากการทดสอบหาค่ามอดุลัสแตกร้าว พบว่าแผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณาในส่วนที่ไม่เกิดสารกฤษณา มีค่ามอดุลัสแตกร้าวไม่ผ่านมาตรฐาน EN ส่วนแผ่นชิ้นไม้อัดที่ผลิตจากเศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหย ที่ใช้ปริมาณกาวที่ชั้นผิวร้อยละ 12 และชั้นไส้ร้อยละ 10 ที่อุณหภูมิ 140 องศาเซลเซียส ให้ค่ามอดุลัสแตกร้าวผ่านมาตรฐาน EN


 ค่ามอดุลัสยืดหยุ่น พบว่าแผ่นชิ้นไม้อัดที่ได้จากการอัดเศษเหลือไม้กฤษณาในส่วนที่ไม่เกิดสารกฤษณาที่ปริมาณกาวในชั้นผิวร้อยละ 10 ชั้นไส้ร้อยละ 8 ที่อุณหภูมิ 140, 150 และ180 องศาเซลเซียส และแผ่นที่ใช้ปริมาณกาวในชั้นผิวร้อยละ 12 ชั้นไส้ร้อยละ 10 อัดที่อุณหภูมิ 150 องศาเซลเซียส ให้ค่ามอดุลัสยืดหยุ่นที่ผ่านมาตรฐาน ส่วนในแผ่นชิ้นไม้อัดที่ผลิตจากเศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหยที่ใช้ปริมาณกาว ชั้นผิวร้อยละ 12 ชั้นไส้ร้อยละ 10 อัดที่อุณหภูมิ 140 และ150 องศาเซลเซียส ให้ค่ามอดุลัสยืดหยุ่นที่ผ่านมาตรฐาน EN 


สำหรับแรงดึงตั้งฉากผิวหน้า ในแผ่นชิ้นไม้อัดทั้งที่ผลิตจากเศษเหลือที่ไม่เกิดสารกฤษณาและผลิตจากเศษเหลือจากการกลั่นน้ำมันหอมระเหย ผ่านค่ามาตรฐาน EN ในทุกสภาวะ การหาค่าการพองตัวตามความหนาของแผ่นชิ้นไม้อัด ส่วนใหญ่มีค่าผ่านมาตรฐาน การทดสอบปริมาณฟอร์มัลดีไฮด์พบว่า แผ่นชิ้นไม้อัดจากเศษเหลือไม้กฤษณาที่ผลิตจากเศษเหลือส่วนที่ไม่เกิดสารกฤษณา มีค่าอยู่ในชั้นคุณภาพ E1


 


คำสำคัญ:  แผ่นชิ้นไม้อัด  ไม้กฤษณา (Aquilaria spp.)

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ