ความหลากชนิดและพฤติกรรมหาอาหารของแมลงในการช่วยผสมเกสรดอกกฤษณา ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

Main Article Content

วัฒนชัย ตาเสน
สุวรรณ ตั้งมิตรเจริญ
มาลัยพร ทาแก้ว
ประวัติศาสตร์ จันทรเทพ
Kazuo Ogata

บทคัดย่อ

ความหลากชนิดของแมลงที่ตอมดอกกฤษณาได้ทำการศึกษาในพื้นที่ป่าธรรมชาติบริเวณอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ สำรวจระหว่างเดือนมีนาคม พ.ศ. 2549 ถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นช่วงที่ดอกกฤษณากำลังบาน โดยใช้กับดักมุ้ง สวิงจับแมลง และการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการหาอาหาร พบแมลงทั้งสิ้น 86 ชนิด ใน 34 วงศ์ (Family) จาก 4 อันดับ (Order) ดังนี้ อันดับ Lepidoptera (ผีเสื้อ) พบจำนวน 46 ชนิด รองลงมาเป็นแมลงใน อันดับ Hymenoptera (ผึ้ง ต่อ แตน มด) จำนวน 25 ชนิด อันดับ Diptera (แมลงวัน) จำนวน 8 ชนิด และอันดับ Coleoptera (ด้วง) จำนวน 7 ชนิด ซึ่งช่วงเวลาที่แมลงลงตอมดอกมากที่สุดมีสองช่วง คือระหว่างเวลา 20.00-22.00 น. และ 10.00-12.00 น. ส่วนช่วงที่มีจำนวนแมลงลงตอมน้อยที่สุดคือเวลา 04.00-06.00 น. พฤติกรรมการตอมดอกของกลุ่มแมลงทั้งหมดพบว่า ผีเสื้อกลางคืนใช้เวลาในการลงตอมดอกมากที่สุดเฉลี่ย 25.36±1.78 วินาทีต่อดอก (n=46) ส่วนกลุ่มผึ้งป่าใช้เวลาน้อยที่สุดเฉลี่ย 8.66±0.76 วินาทีต่อดอก (n=27) จากแนวโน้มของพฤติกรรมการหาอาหารในแต่ละช่วงเวลาของแมลง และความพร้อมรับเรณูของยอดเกสรเพศเมีย แสดงให้เห็นว่าแมลงที่มีความสำคัญในการช่วยผสมเกสรให้แก่กฤษณาสามารถจัดได้สองกลุ่มใหญ่ๆ คือ กลุ่มแมลงที่หากินในช่วงกลางคืนซึ่งเป็นกลุ่มแรก (first pollination) และกลุ่มแมลงที่หากินในช่วงกลางวันเป็นกลุ่มที่สอง (second pollination)


คำสำคัญ : ความหลากชนิด แมลงตอมดอก กฤษณา พฤติกรรมหาอาหารของแมลง

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ