สมดุลคาร์บอนในระดับเรือนยอดของป่าดิบแล้งสะแกราช และป่าผสมผลัดใบลุ่มน้ำแม่กลอง
Main Article Content
บทคัดย่อ
การศึกษาสมดุลคาร์บอนในระดับเรือนยอดซึ่งดำเนินการศึกษาในพื้นที่ป่าดิบแล้งสะแกราช จังหวัดนครราชสีมา และป่าผสมผลัดใบลุ่มน้ำแม่กลอง จังหวัดกาญจนบุรี นั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยรวมและเปรียบเทียบสมดุลคาร์บอนในระดับเรือนยอดของป่าทั้งสองแห่ง โดยทำการประมาณค่าการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของใบด้วยแบบจำลองการสังเคราะห์แสงโดยใช้ข้อมูลนำเข้าทางด้านสรีรวิทยาและข้อมูลภูมิอากาศ และประมาณค่าการสังเคราะห์แสงและการหายใจของเรือนยอดโดยอาศัยความสัมพันธ์ของการสังเคราะห์แสงของใบในแต่ละวันและค่าดัชนีพื้นที่ใบ ตลอดจนวิเคราะห์และเปรียบเทียบสมดุลคาร์บอนในระดับเรือนยอดของป่าทั้งสองแห่ง
ผลการศึกษาพบว่าการสังเคราะห์แสงสุทธิของใบในรอบวันมีความผันแปรในแต่ละวันและตามฤดูกาลตามการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยอัตราการสังเคราะห์แสงของใบมีค่าสูงในช่วงฤดูฝนและลดลงในช่วงฤดูแล้งเนื่องจากการขาดน้ำตามฤดูกาล และค่าการสังเคราะห์แสงสุทธิของใบของพรรณไม้ทั้ง 4 ชนิด ที่ประเมินได้จากแบบจำลองในฤดูต่างๆ มีค่าใกล้เคียงกับค่าที่วัดได้จริงมากกว่าร้อยละ 75 จากการประมาณค่าด้วยแบบจำลองการสังเคราะห์แสงของเรือนยอด พบว่า ป่าทั้งสองชนิดมีการสังเคราะห์แสงของเรือนยอดรวมแตกต่างกันไปในแต่ละเดือน เนื่องจากความผันแปรตามฤดูกาลของลักษณะทางสรีรวิทยาของใบและปัจจัยทางภูมิอากาศ โดยป่าดิบแล้งสะแกราชมีการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากบรรยากาศได้มากกว่าป่าผสมผลัดใบลุ่มน้ำแม่กลอง แต่ป่าทั้งสองแห่งมีการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศจากการหายใจของต้นไม้ใกล้เคียงกัน จึงทำให้ป่าดิบแล้งสะแกราชมีผลผลิตปฐมภูมิสุทธิสูงกว่าแสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับเรือนยอดที่สูงกว่าป่าผสมผลัดใบลุ่มน้ำแม่กลอง
คำสำคัญ: การสังเคราะห์แสงของเรือนยอด ผลผลิตปฐมภูมิรวม ผลผลิตปฐมภูมิสุทธิ ป่าดิบแล้ง ป่าผสมผลัดใบ
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ขอรับรองว่า ต้นฉบับที่เสนอมานี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ลงในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยอมรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาต้นฉบับ ทั้งยินยอมให้กองบรรณาธิการมีสิทธิ์พิจารณาและตรวจแก้ต้นฉบับได้ตามที่เห็นสมควร พร้อมนี้ขอมอบลิขสิทธิ์ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ให้แก่วารสารวนศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณีมีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพ กราฟ ข้อความส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในผลงาน ให้เป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) แต่เพียงฝ่ายเดียว และหากข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ประสงค์ถอนบทความในระหว่างกระบวนการพิจารณาของทางวารสาร ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาบทความนั้น”