การประเมินผลการจัดการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก

Main Article Content

อำพร จินดารัตน์
นภวรรณ ฐานะกาญจน์
สันต์ เกตุปราณีต

บทคัดย่อ

การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดตัวชี้วัดประสิทธิภาพและประสิทธิผลการจัด การเขตห้ามล่าสัตว์ป่าและเพื่อประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการจัดการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก ผู้วิจัยกำหนดตัวชี้วัดตามกรอบวัตถุประสงค์การจัดการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าในระดับ ประเทศและในระดับสากล จากนั้นให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 51 คน ประเมินความเหมาะสมและให้ค่าคะแนนแต่ละตัวชี้วัดโดยตัวชี้วัดจะมีค่าความเหมาะสมตั้งแต่ 1 มีความเหมาะสมน้อยมากถึง 5 มีความเหมาะสมมากที่สุด จากนั้นรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้โดยใช้สมการถ่วงน้ำหนัก จากผลการศึกษา พบว่าตัวชี้วัดมี 30 ตัวชี้วัดโดยระดับความเหมาะสมที่เหมาะสมมากมี 19 ตัว ชี้วัดคิดเป็นร้อยละ 63.33 และเหมาะสมปานกลางมี 11 ตัวชี้วัดคิดเป็นร้อยละ 36.67 จากการประเมินผลการจัดการเขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก พบว่าวัตถุประสงค์ที่มีการจัดการในระดับสูง คือ เพื่อจำกัดและป้องกันการใช้ประโยชน์และ/หรือการบุกรุกครอบครองพื้นที่ที่เป็นอันตรายต่อวัตถุประสงค์การประกาศจัดตั้งเขตห้ามล่าสัตว์ป่า มีค่าคะแนนเท่ากับ 1.61 จากคะแนนสูงสุดที่เป็นไปได้คือ 2.23 และวัตถุประสงค์ที่มีการจัดการในระดับปานกลาง คือ เพื่อคุ้มครองรักษาสภาพแหล่งอาศัยที่จำเป็นแก่การอนุรักษ์ชนิดพันธุ์ กลุ่มของชนิดพันธุ์ สังคมสิ่งมีชีวิตหรือลักษณะเด่นทางกายภาพสิ่งแวด ล้อมและการดำเนินงานจัดการสัตว์ป่า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่การศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์และการตรวจสอบติดตามผลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อพัฒนาพื้นที่ที่มีอย่างจำกัดสำหรับให้ประชาชนได้ศึกษาหาความรู้และชื่นชมธรรมชาติและเพื่อให้คนท้องถิ่นได้ใช้ประโยชน์ในพื้นที่โดยต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดการข้ออื่นๆ มีค่าคะแนนเท่ากับ 1.74 1.50 2.40 และ 2.98 ตาม ลำดับ เมื่อประเมินประสิทธิภาพการจัดการพบว่าอยู่ระดับปานกลาง มีค่าคะแนนเท่ากับ 1.28 และประสิทธิผลการจัดการพบว่าอยู่ระดับปานกลาง มีค่าคะแนนเท่ากับ 2.56 ดังนั้นผลการจัดการโดยรวมอยู่ระดับปานกลาง มีค่าคะแนนเท่ากับ 2.19 จากคะแนนสูงสุดที่เป็นไปได้คือ 3.50


คำสำคัญ: การประเมินผลการจัดการ ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล เขตห้ามล่าสัตว์ป่าบึงฉวาก

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ