ผลของระยะห่างระหว่างต้นต่อการเติบโตและผลผลิตของไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนา
Main Article Content
บทคัดย่อ
การปลูกไม้ยูคาลิปตัส บนคันนาด้วยระยะห่างระหว่างต้นต่างๆ กัน ดำเนินการใน 2 ท้องที่ คือ แปลงนาของนายองอาจ สุขสวัสดิ์ ที่บ้านหนองนกเอี้ยง ตำบลเขาหินซ้อน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา และแปลงนาของนายล้วน หนองนา ที่บ้านเกาะขนุน ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา การปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาทั้งสองท้องที่วางแผนการทดลองแบบ randomized complete block design (RCBD) ประกอบด้วยการปลูกระยะห่างระหว่างต้น 0.5, 1.0, 1.5, 2.0 และ 2.5 เมตร ใช้กล้าไม้ สายต้น (clone) K51 จากบริษัทยูคาลิปตัสเทคโนโลยี จำกัด ปลูกเป็นแถวเดียวบนคันนามี 3 ซ้ำ (replication) แปลงปลูกบ้านเกาะขนุน ปลูกวันที่ 4 กันยายน 2548 ส่วนแปลงปลูกบ้านหนองนกเอี้ยง ปลูกวันที่ 18 สิงหาคม 2548 เก็บข้อมูลการเติบโตของต้นไม้หลังจากปลูกทุก 2 เดือน ผลการศึกษาในช่วงอายุ 3 ปี แสดงให้เห็นความแตกต่างของการเติบโต และรูปทรงของไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นต่างๆ กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่แปลงนาบ้านหนองนกเอี้ยง แต่ที่แปลงนาบ้านเกาะขนุน การเติบโตทางความโตและความสูงแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนรูปทรงของต้นไม้ ได้แก่ ความกว้างของเรือนยอด และความสูงถึงกิ่งสดกิ่งแรก พบว่า ทั้งสองท้องที่มีความแตกต่างของรูปทรงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ทั้งนี้จะเห็นว่า การเติบโตทางขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเพียงอก มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นกว้างขึ้น ในขณะที่การเติบโตทางความสูงไม่มีความสัมพันธ์ที่ชัดเจนกับระยะห่างระหว่างต้นที่ปลูก ส่วนความกว้างของเรือนยอดของต้นไม้มีค่าเพิ่มขึ้นตามระยะห่างระหว่างต้นที่ปลูกและอายุที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่ความสูงถึงกิ่งสดกิ่งแรกเพิ่มขึ้นตามระยะห่างระหว่างต้นที่ปลูกถี่ขึ้น การเติบโตในรูปผลผลิตมวลชีวภาพต่อต้น และต่อพื้นที่ พบว่า ผลผลิตมวลชีวภาพของส่วนต่างๆ ต่อต้น มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เมื่อปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นกว้างขึ้น ในขณะที่ผลผลิตมวลชีวภาพต่อพื้นที่เพิ่มขึ้น เมื่อปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นแคบลง จากข้อมูลแม้ว่าการปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นที่แคบๆ จะให้ผลผลิตรวมในรูปมวลชีวภาพสูงกว่าการปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้นที่กว้างขึ้น แต่เมื่อพิจารณาถึงขนาดลำต้นของการนำไม้ไปใช้ประโยชน์ และปัจจัยในเรื่องการแก่งแย่งกันของไม้ที่ปลูก ตลอดจนการยอมรับของเกษตรกรผู้ปลูก จะเห็นได้ว่าการเลือกใช้ระยะห่างระหว่างต้น 1.50 เมตร เป็นระยะห่างระหว่างต้นที่เหมาะสมที่สุด โดยคำนึงถึงต้นทุนการผลิต การปลูก และค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ไปจนถึงการตัดฟันไม้ออกมาใช้ประโยชน์ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าในแปลงที่ต้นไม้โตดี เมื่ออายุ 3 ปี การปลูกด้วยระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร ให้ผลผลิตมวลชีวภาพในส่วนลำต้น เท่ากับ 3.35 ตัน/ไร่ หรือ 20.94 ตัน/เฮกแตร์ ส่วนผลผลิตมวลชีวภาพส่วนเหนือพื้นดิน เท่ากับ 3.92 ตัน/ไร่ หรือ 24.50 ตัน/เฮกแตร์ และได้ผลผลิตในรูปน้ำหนักสดในส่วนที่เป็น ลำต้น เท่ากับ 108.24 กิโลกรัม/ต้น
คำสำคัญ: ยูคาลิปตัส ระยะห่างระหว่างต้น คันนา การเติบโต ผลผลิตมวลชีวภาพ
Downloads
Article Details
This work is licensed under a Creative Commons Attribution-NonCommercial-NoDerivatives 4.0 International License.
ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ขอรับรองว่า ต้นฉบับที่เสนอมานี้ยังไม่เคยได้รับการตีพิมพ์และไม่ได้อยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาตีพิมพ์ลงในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยอมรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการพิจารณาต้นฉบับ ทั้งยินยอมให้กองบรรณาธิการมีสิทธิ์พิจารณาและตรวจแก้ต้นฉบับได้ตามที่เห็นสมควร พร้อมนี้ขอมอบลิขสิทธิ์ผลงานที่ได้รับการตีพิมพ์ให้แก่วารสารวนศาสตร์ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรณีมีการฟ้องร้องเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับภาพ กราฟ ข้อความส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือ ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในผลงาน ให้เป็นความรับผิดชอบของข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) แต่เพียงฝ่ายเดียว และหากข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ประสงค์ถอนบทความในระหว่างกระบวนการพิจารณาของทางวารสาร ข้าพเจ้าและผู้เขียนร่วม (ถ้ามี) ยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกิดขึ้นในกระบวนการพิจารณาบทความนั้น”