ผลของระยะปลูกต่อสมบัติของดินที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนา ในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา

Main Article Content

รุ่งเรือง พูลศิริ
พิธีกร สุภาวงศ์
นิติกร กวนคอนสาร

บทคัดย่อ

ผลของระยะปลูกต่อสมบัติของดินที่ปลูกไม้ยูคาลิปตัสบนคันนาในท้องที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้ทำการศึกษาในแปลงทดสอบระยะปลูกไม้ยูคาลิปตัสที่ปลูกบนคันนา อำเภอพนมสารคาม ทำการวางแปลงทดลองแบบสุ่มในบล็อกสมบูรณ์ (randomized completely block design, RCBD) ในการทดลองนี้ระยะปลูกไม้ยูคาลิปตัสที่ใช้มีจำนวนทั้งสิ้น 5 ระยะปลูก คือ 0.5, 1.0, 1.5, 2.0 และ 2.5 เมตร โดยปลูกบนคันนาแถวเดียว สายต้น K51 ทำการเก็บตัวอย่างดินก่อนและหลังปลูกเมื่อต้นไม้มีอายุ 3 ปีในแต่ละระยะปลูก เพื่อนำไปวิเคราะห์หาสมบัติทางกายภาพ และทางเคมีของดินต่อไป


ผลการศึกษา พบว่า เนื้อดินเป็นดินร่วนปนทราย (sandy loam) ดินทรายร่วน (loamy sand) และดินร่วนเหนียวปนทราย (sandy clay loam) ความหนาแน่นรวมของทุกระยะปลูกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในขณะที่ความพรุนของดินทุกระยะปลูกมีค่าลดลงเนื่องมาจากความหนาแน่นรวมที่เพิ่มขึ้น ดินมีความเป็นกรดเป็นด่างเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณอินทรียวัตถุในดินในทุกระยะปลูกมีค่าลดลง ในขณะที่ปริมาณไนโตรเจนทั้งหมดในดินมีแนวโน้มคงที่และเพิ่มขึ้น ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ต่อพืชเพิ่มขึ้นในระยะปลูก 1.0 และ 2.0 เมตร แต่ระยะปลูก 0.5, 1.5 และ 2.5 เมตร มีค่าลดลง ส่วนโพแทสเซียม แมกนีเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ และความจุแลกเปลี่ยนแคตไอออน มีค่าลดลงทุกระยะปลูก แคลเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มีค่าเพิ่มขึ้นในระยะปลูก 0.5, 2.0 และ 2.5 เมตร ตรงกันข้ามกับระยะปลูก 1.0 และ 1.5 เมตร มีค่าลดลง อัตราร้อยละความอิ่มตัวเบส มีค่าเพิ่มขึ้นทุกระยะปลูก


คำสำคัญ: ระยะปลูก  ยูคาลิปตัส  คันนา  สมบัติของดิน  จังหวัดฉะเชิงเทรา


 

Downloads

Download data is not yet available.

Article Details

บท
นิพนธ์ต้นฉบับ